บทสุดท้าย น้อมรับคำวิจารณ์ และนำสิ่งเหล่านั้นไปปรับปรุงในงานเขียนชิ้นถัดไป

ในโลกนี้มีผู้เกร่งกล้าฝีมือมากกว่าเรามากมาย หากนักดาบคนใดมีโอกาสได้ต่อสู้ฟาดฟันกับนักดาบที่มีฝีมือเหนือชั้นกว่า หากเขาไม่ตายหรือพิการไปเสียก่อน นักดาบผู้นั้นย่อมต้องมีฝีมือแข็งแกร่งขึ้นอย่างแน่นอน เช่นเดียวกันกับในงานเขียนเรื่องสั้น หากโชคดีมีนักเขียนผู้มีประสบการณ์มาอ่านงานของเราและได้ฝากคำวิจารณ์ติชมเอาไว้ นั่นคือโอกาสดีที่หาได้ยากยิ่งในการพัฒนาฝีมือในการเขียนของเรา

งานเขียนเรื่องสั้นของเราเมื่อมันถูกถ่ายทอดออกไปในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะถูกตีพิมพ์ในหนังสือหรือถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซท์ นั่นหมายถึงว่ามันเป็นผลงานของสาธารณะแล้ว ใครก็ตามที่ผ่านมาเห็นก็สามารถอ่านและวิจารณ์ผลงานชิ้นนั้นได้อย่างเต็มที่

อย่างที่เกริ่นไว้ย่อหน้าข้างบน ใครๆก็สามารถฝากคำวิจารณ์ติชมไว้กับเรื่องสั้นของเราก็ได้ โดยเฉพาะหากเรานำเรื่องสั้นของเราไปเผยแพร่ผ่านเว็บบอร์ด ซึ่งจะเปิดให้ผู้ที่เข้ามาอ่านฝากความคิดเห็นไว้ได้ แน่นอนว่าผู้ที่เข้ามาเขียนความคิดเห็นย่อมมีมากหน้าหลายตา อาจจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในงานเขียนหรือไม่มี รสนิยมอาจจะไม่ตรงกับงานที่เราเขียน แต่พวกเขาทั้งหมดนั้นคือนักอ่าน ในบางความเห็นอาจจะเป็นการชื่นชมหรือตำหนิ เราสามารถนำความเห็นเหล่านั้นมาวิเคราะห์ผลงานของเราได้ว่ามีพัฒนาการดีขึ้นอย่างไร

และในส่วนของคำวิจารณ์นั้น สิ่งที่เราต้องตระหนักไว้ก่อนคือ เราไม่สามารถโต้เถียงในประเด็นใดๆกับผู้ที่วิจารณ์งานเขียนของเราได้ เช่นหากมีนักอ่านบอกว่าเนื้อเรื่องที่เราสร้างขึ้นมานั้นไม่สัมพันธ์กัน หรืออาจจะเป็นสำนวนที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ สิ่งที่เราทำได้ต่อจากนี้ก็มีเพียงแค่กลับไปหาจุดบกพร่องในงานเขียนชิ้นนั้นว่ามันเป็นตามคำวิจารณ์นั้นหรือเปล่า หากมันเป็นไปตามนั้นเราก็อาจจะกลับไปปรับปรุง หรืออาจจะใช้การแก้ไขข้อบกพร่องนี้ในงานชิ้นถัดๆไป เราไม่ควรที่จะไปโต้เถียงใดๆกับคำวิจารณ์นั้นได้ แม้ว่าเราอาจจะมั่นใจว่าประเด็นนั้นๆของเราไม่ได้บกพร่องไปตามที่คำวิจารณ์นั้นว่าไว้ สิ่งที่เราควรทำก็แค่น้อมรับคำวิจารณ์นั้นไว้เท่านั้นเอง

แต่ถ้างานเขียนของเรานั้นไม่ได้มีจุดบกพร่องตามที่มีผู้วิจารณ์ไว้ ผู้ที่จะโต้แย้งแทนเราก็คือนักอ่านด้วยกันเอง ซึ่งนักอ่านบางคนอาจมีมุมมองที่ต่างกัน อาจจะมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นอาจจมองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจ ปล่อยให้พวกเขาถกเถียงกันเองโดยที่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งในประเด็นใดๆ

สุดท้ายนี้ ผู้ที่เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้มีฝีมือที่เก่งกาจอะไรมากมายในการเขียน เพียงแต่แค่นำจุดสังเกตต่างๆมาร่วมแบ่งปัน ในเนื้อหาของหนังสือผู้เขียนพยายามเขียนให้เป็นแนวทางแบบปลายเปิด นั่นหมายความว่าทางเลือกในหนังสือเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ยังมีทางเลือกอีกนับล้านที่สามารถนำมาใช้ในการแต่งเรื่องสั้นได้ แน่นอนว่าไม่มีทางเลือกไหนดีที่สุด เพียงแต่ว่านักเขียนแต่ละคนมักจะใช้ทางเลือกที่ตัวเองถนัดที่สุดเท่านั้นเอง

เรื่องสั้นที่ดีมันขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ เริ่มตั้งแต่แนวคิดของนักเขียนรวมไปถึงรสนิยมของผู้อ่านเรื่องสั้น งานเขียนที่ดีอาจหมายถึงงานที่ถ่ายทอดแนวคิดของนักเขียนให้ออกมาดีที่สุด ต่อจากนั้นก็รอให้นักอ่านมาพานพบกับงานเขียนของเราแค่นั้นเอง

ความคิดเห็น