บทที่ 7 การจบเรื่อง



อารมณ์จากการอ่านเรื่องสั้นให้จบเรื่อง ก็เหมือนกันเราดูกีฬาให้จบแมทซ์การแข่งขัน เพราะเมื่อเวลาในการแข่งยังไม่จบ เราไม่สามารถสรุปผลการแข่งขันได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกันกับการอ่านบทสรุปของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้น นั่นคือเหตุผลหลักที่นักอ่านต้องมานั่งอ่านเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบของเรา

เรื่องสั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าตอนจบของเรื่องต้องเป็นอย่างไร เป็นหน้าทีของนักเขียนที่จะวางแผนว่าอยากให้เรื่องจบด้วยแบบไหน วิธีการใดจะประทับใจนักอ่านได้มากกว่ากัน มีตัวอย่างงานวรรณกรรมมากมายที่มีตัวอย่างตอนจบของเรื่องที่เราอาจจะประทับใจ จุดประสงค์ของนักอ่านเรื่องสั้นอาจจะเป็นความเพลินเพลินในการอ่านเรื่องราว แต่เรื่องราวจากเรื่องสั้นนั้นสั้นนัก บางทีพวกเขาอาจจะต้องการอารมณ์ที่พีคสูงสุดที่ได้รับจากเรื่องสั้น ในตอนจบของเรื่องเป็นโอกาสดีที่เราจะทำให้อารมณ์ของนักอ่านได้รับอารมณ์สูงสุดตามที่เราต้องการให้พวกเขา อาจจะเป็นความประทับใจ ซาบซึ้งใจ ความเหงาความเศร้าแบบสุดๆ ความสยองขวัญที่แทบจะทำให้ขนหัวลุก หรือบางทีนักอ่านอาจจะเอวเคล็ดหลังแทบหัก เมื่ออ่านมาถึงย่อหน้าที่หักมุมของเรื่องสั้นที่เราตั้งใจให้ผู้อ่านคาดไม่ถึง

แนวทางที่ได้กล่าวไปนั้นคือจุดมุ่งหมายที่เราจะใช้ในการประเมินถึงความพึงพอใจจากผู้แต่งเรื่องสั้น อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่ากฎของการเขียนตอนจบเรื่องสั้นนั้นไม่มี แต่แนวทางการจบที่เราเห็นบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสั้น นวนิยาย ภาพยนตร์ ฯลฯ ก็มีแนวทางหลักๆที่เรามักจะเห็นตามหัวข้อด้านล่าง

  • จบอย่างมีความสุข
  • จบแบบหักมุม
  • จบตามจารีตประเพณี
  • จบตามประวัติศาสตร์
  • จบแบบไม่จบ

นี่คือแนวทางวิธีการจบที่มักเห็นบ่อยครั้ง แต่ถ้าผู้อ่านสามารถคิดวิธีจบแบบอื่นได้ก็สามารถนำมาใช้กับเรื่องสั้นของผู้อ่าน


ผู้ที่เสพงานวรรณกรรมทุกประเภทมักจะชื่นชอบการจบแบบมีความสุข หรือแฮปปี้เอ็นดิ้ง เพราะโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ชอบที่จะมีความสุข การจบแบบมีความสุขจะเป็นการจบที่นักอ่านงานเขียนมักจะสามารถคาดเดาเหตุการณ์ได้ งานเขียนที่จบแบบนี้ได้จะต้องมีเรื่องราวที่สามารถทำให้ผู้อ่านสนุกสนานและคล้อยตามกับเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็ต้องทำให้พวกเขาพึงพอใจกับเนื้อเรื่องที่เราแต่ง งานเขียนที่มักจะจบอย่างมีความสุขมักจะเป็นเรื่องแนวรักๆใคร่ๆ บ่อยครั้งที่เราเสพงานด้านวรรณกรรมแนวรักๆใคร่ๆมักจะลงเอยด้วยดี พระเอกจะสมหวังกับนางเอก โดยที่งานวรรณกรรมแนวรักๆใคร่ๆที่ไม่จบแบบมีความสุขก็มี แต่มีน้อย และถ้าพูดถึงความนิยมแล้ว ผู้เสพก็มักจะต้องการงานวรรณกรรมที่จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งมากกว่าหลายเท่าตัวนัก

แต่บางทีแนวคิดนี้อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้เสมอไปกับเรื่องสั้น อย่างที่ผู้เขียนอธิบายไปในบทก่อนๆว่า เรื่องสั้นนั้นมีพื้นที่น้อย ไม่สามารถที่สร้างเหตุการณ์และเรื่องราวที่น่าประทับใจได้มากนัก การเขียนเรื่องราวที่หน้าประทับใจใน 10 หน้ากระดาษแล้วให้เรื่องจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งนั้น บางทีมันอาจจะดูเหมือนไดอะรี่ส่วนตัวมากกว่าที่จะเป็นเรื่องสั้น ดังนั้นเราจึงต้องคำนึงถึงวิธีการเล่าเรื่องให้มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันความน่าเบื่อให้กับนักอ่าน

แต่ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้เสมอหากเราต้องการจบเรื่องแบบนี้ ในตอนต้นของบทที่ผู้เขียนอธิบายว่า ในเรื่องสั้นของเราควรที่จะสามารถทำให้อารมณ์ของนักอ่านพุ่งไปถึงจุดสูงสุด ในเนื้อเรื่องอาจจะแทรกไว้ด้วยความทุกข์ยากลำบากของตัวละคร ที่ทำให้ต้องลุ้นจนตัวโก่ง หรือความเศร้าจากอะไรสักอย่างที่ตัวละครสามารถฟันฝ่ามันออกมาได้อย่างทุลักทุเล หรือความสนุกสนานจากเหตุการณ์ที่เราสอดแทรกเข้าไป หากเราสามารถสร้างจุดนี้ขึ้นมาได้ เราก็สามารถจบงานเขียนอย่างมีความสุขได้โดยให้ทั้งอรรถรสและความสุขที่นักอ่านได้รับ

ตัวอย่างเรื่องสั้นนี้เป็นเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับความรักความปรารถนา และแน่นอนว่ามันจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง แต่ผู้เขียนพยายามสร้างเหตุการณ์ต่างๆเข้าไปเพื่อให้นักอ่านได้ร่วมลุ้นไปกับตัวละคร

เกมรักต้องลุ้น

 

 

 

 


การเขียนตอนจบแบบหักมุม คือการบิดเบือนความคิดความเข้าใจของนักอ่านให้หันไปอีกทาง โดยในตอนต้นอาจดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆจนนักอ่านเข้าใจเนื้อเรื่องความเป็นไปของเหตุการณ์และตัวละครในระดับหนึ่ง แต่ตอนจบนั้นจะมีบางสิ่งที่มาหักล้างความคิดเริ่มแรกของนักอ่านจนหมดสิ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจนั้นต้องสามารถรองรับเหตุผลและการยอมรับของนักอ่านด้วย

การจบแบบหักมุมมักเป็นที่นิยมของนักเขียนเรื่องสั้น เพราะการเขียนจบแบบนี้มีโอกาสที่ผู้อ่านเรื่องสั้นจะรู้สึกสนุกสนานมากกว่า มันจะเหมือนกับว่านักอ่านจะได้อ่านประสบการณ์เรื่องราวใหม่ๆ เพราะพวกเขานึกไม่ถึงว่าเรื่องจะจบอีกทางหนึ่ง ถ้าเปรียบเทียบเรื่องสั้นที่ตอนจบสามารถคาดเดาได้ ผู้อ่านอาจจะเบื่อหน่ายกับแนวทางอย่างหลังมากกว่า

ดังนั้นแล้วการสร้างพล็อตเรื่องแนวหักมุม นักเขียนจะต้องมีจินตนาการที่เหนือกว่าสามัญสำนึกทั่วไปของคน ฟังดูแล้วอาจจะดูเหมือนว่ายาก แต่ความจริงแล้วเราสามารถฝึกสิ่งเหล่านี้ได้โดยการจินตนาการไปเรื่อยๆ ลองนึกถึงความเป็นไปได้ในตอนจบว่าเนื้อเรื่องจะสามารถลงเอยแบบใดได้บ้าง เปลี่ยนแนวความคิดไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงจุดที่เราพอใจ

อย่างที่เขียนไปในย่อหน้าแรกของหัวข้อนี้ สิ่งแรกเราต้องทำให้นักอ่านมีความเข้าใจไปในทิศทางที่เราวางไว้ ขั้นตอนในการดำเนินเรื่องนั้นนักเขียนต้องเขียนมันอย่างระมัดระวัง เขียนแล้วอ่านซ้ำไปซ้ำมาว่าเราสามารถลากจูงแนวความคิดของนักอ่านได้หรือไม่ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะถ้าเราไม่สามารถสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ได้ เมื่อนักอ่านก้าวไปถึงจุดที่หักมุม เขาอาจจะไม่เข้าใจว่ามันหักมุมตรงไหนก็เป็นได้

ตัวอย่างเรื่องสั้นแนวหักมุมของผู้เขียน จากเรื่องสั้นเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ผัวไปจ้างวานคนให้ฆ่าเมีย ผู้เขียนพยายามปูเรื่องให้ผัวไปว่าจ้างคนให้มาฆ่าเมีย นักอ่านก็ย่อมจะเข้าใจว่าสุดท้ายเมียต้องตายในตอนจบ หรือบางทีนักอ่านอาจจะไม่ไว้วางใจเราที่จะเขียนตอนจบที่สามารถให้คาดเดาได้ แต่นักอ่านอาจจะนึกไม่ถึงว่าตอนจบของเรื่องสั้นจะเป็นอย่างไรอยู่ดี ลองอ่านตัวอย่างงานเขียนข้างล่างนี้



จารีตประเพณี หรือกฎศีลธรรม หมายถึง สิ่งซึ่งสังคมใดสังคมหนึ่งยึดถือและปฏิบัติสืบกันมาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เป็นเรื่องของความผิดถูก มีเรื่องของศีลธรรมเข้ามาร่วมด้วย ดังนั้นนักเขียนต้องทำให้ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าเป็นผิดเป็นชั่ว จะต้องถูกตำหนิหรือได้รับการลงโทษจากคนในสังคมนั้น เช่น ลูกหลานต้องเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อท่านแก่เฒ่า ถ้าใคร ไม่เลี้ยงดูถือว่าเป็นคนเนรคุณหรือลูกอกตัญญู จารีตประเพณีของแต่ละสังคมนั้นย่อมไม่เหมือนกัน เพราะมีค่านิยมที่ยึดถือต่างกัน การนำเอาจารีตประเพณีของตนไปเปรียบเทียบ กับของคนอื่นแล้วตัดสินว่าดีหรือเลวกว่าของตนย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเชื่อของแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไป

ย่อหน้าที่ผ่านมาเป็นการอธิบายถึงความหมายของคำว่าจารีตประเพณี การเขียนเรื่องสั้นแนวนี้จะต้องจบเรื่องตามความเข้าใจของสังคมนั้น เช่นคนทำดีย่อได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว เรื่องสั้นแนวนี้ก็เป็นเหมือนกับสิ่งย้ำเตือนความเชื่อที่คนในสังคมนั้นๆเข้าใจ ดังนั้นเรื่องสั้นประเภทนี้ก็อาจจะสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสะท้อนแนวความคิดและความเชื่อของสังคมที่ได้พูดถึง

แต่ว่าความเชื่อของสังคมหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ความเชื่อของสังคมอีกสังคมหนึ่งก็เป็นได้ ดังนั้นแล้วเรื่องสั้นแนวนี้มักจะมีความขัดแย้งในมุมมองที่กว้างออกไป บางทีแล้วความขัดแย้งนี้ก็อาจเป็นสิ่งที่น่าสนใจของนักอ่าน เพราะนั่นเป็นการเรียนรู้และเปิดมุมมองใหม่ๆได้อีกทางหนึ่ง

ตัวอย่างเช่นการเขียนถึงความจำเป็นของคนในสังคมหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ชายที่อายุครบ 21 ปีแล้วต้องบวช ซึ่งเป็นจารีตประเพณีที่สังคมนั้นๆปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ถ้าเรานำประเด็นนี้มาเขียนตามจารีตประเพณีนี้อย่างตรงไปตรงมา อาจจะพูดถึงคนที่บวชเป็นพระมาแล้วมีชีวิตที่รุ่งเรืองและมีความสุข แต่ถ้าเรานำประเด็นนี้มองด้วยมุมที่ขัดแย้งกัน อาจจะพูดถึงเด็กหนุ่มที่หนีคดีมาจากเมืองใหญ่ และเข้ารับการบวชตามจารีตประเพณี หรือคนที่เคยบวชตามจารีตประเพณี สุดท้ายก็ไปติดคุกคดีฆ่าคนตายโดยใช้โทสะ

หรือหากพูดถึงตามชนบทก็มักจะมีจารีตประเพณีที่เวลาวัดต้องการระดมเงินทุนเพื่อไปสร้างสิ่งก่อสร้างในวัด ชาวบ้านทั่วไปก็พร้อมใจกันบริจาคเงินให้วัดไปตามที่เจ้าอาวาสจะร้องขอ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อของคนตามชนบท เมื่อมีข่าวการโกงเงินบริจาคจากเจ้าอาวาสหรือกรรมการในวัดหลายครั้ง รวมถึงกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระบางรูป และบริบทหน้าที่ที่ลดน้อยลงของพระ นั่นทำให้คนที่อยู่อีกสังคมหนึ่งมองว่าการบริจาคเงินให้วัดเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมก็เป็นได้

การเขียนเรื่องสั้นให้จบตามจารีตประเพณี นักเขียนจะต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนว่าอยากปลูกฝังแนวความคิดอะไรให้กับผู้ที่อ่านเรื่องของเรา และเราต้องพยายามเขียนเรื่องราวให้มุ่งไปที่ประเด็นที่เราต้องการพูดอย่างเดียว เพราะเกี่ยวกับเรื่องจารีตประเพณีที่มีเรื่องความเชื่อความศรัทธาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว มันอาจจะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและเปราะบางมากๆ ถ้าหากประเด็นแนวความคิดของเราที่ขัดกับจารีตประเพณี แต่ถ้ามันรองรับด้วยเหตุผลความถูกผิดได้อย่างดีแล้ว แนวความคิดของเราที่ไปหักล้างความเชื่อของนักอ่าน ก็มีโอกาสได้รับการยอมรับจากพวกเขาก็เป็นได้


ความจริงแล้วเรื่องราวในประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของผู้เขียนประวัติศาสตร์ว่าต้องการให้ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ในบางสังคมอาจไม่ยอมรับให้มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ แต่ในบางสังคมเห็นว่าเป็นเรื่องเสรีที่จะให้มีการบิดเบือนทางประวัตศาสตร์ในงานด้านวรรณกรรม เพราะสังคมนั้นมองว่ามันเป็นแค่วรรณกรรม 

การสร้างเรื่องที่อ้างอิงกับประวัติศาสตร์ หรือแค่มีฉากที่ดำเนินเรื่องผ่านเหตุการณ์ช่วงนั้น เช่นหากอ้างอิงกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หากเนื้อเรื่องดำเนินมาถึงจุดที่สงครามยุติ ผู้แพ้สงครามก็ต้องเป็นประเทศที่แพ้สงครามจริงๆตามที่ในหนังสือว่าไว้ 

แต่ถ้าหากเราอยากจะบิดเบือนประวัติศาสตร์นั้นเสียใหม่ วิธีการใดที่จะทำให้เนื้อเรื่องที่เราแต่งขึ้นนั้นดูเนียนที่สุด เราอาจสร้างข้อมูลขึ้นมาชุดหนึ่งและพยายามทำให้มันดูเหมือนกับเรื่องจริงที่สุด เช่นเราอาจจะบิดเบือนเหตุผลที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกที่ครั้งที่

จากประวัติศาสตร์ที่มีคนเคยตีความกันไว้ เหตุผลหลักที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่  2 น่าจะมาจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ถูกประเทศอเมริกาทิ้งที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ และมีบางกระแสบอกว่าระเบิดทั้ง 2  ลูกนั้นไม่ได้ทำให้ญี่ปุ่นสิ้นหวังกับสงคราม แต่เหตุผลจริงๆคือการรุกคืบจากกองทัพแดงของรัสเซีย 1 ล้าน 6 แสนคนที่บุกโจมตีกองทัพญี่ปุ่นซึ่งครอบครองเอเชียตะวันออกอยู่เป็นล้านนายแตกภายในวันเดียวอย่างไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว ทำให้เป็นแรงจูงใจให้ญี่ปุ่นหันมายอมแพ้ให้กับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจะได้รับการปฏิบัติในฐานะผู้แพ้สงครามที่ดีกว่ายอมแพ้ต่อรัสเซีย

หากเราจะลองบิดเบือนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราต้องมาดูก่อนว่าผลลัพธ์จากการยอมแพ้สงครามของญี่ปุ่นต่ออเมริกามีอะไรบ้าง หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาจัดการญี่ปุ่น โดยให้ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 1946 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดที่เคยมีมา หลังจากนั้นเทคโนโลยีของญี่ปุ่นล้ำหน้าเป็นอย่างมากในภูมิภาคเอเชีย มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะบิดเบียนว่า สาเหตุที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม คือได้มีการตกลงอย่างลับๆระหว่างญี่ปุ่นและอเมริกา ที่จะให้อเมริกาเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญและส่งมอบเทคโนโลยีใหม่ๆให้กับญี่ปุ่นในการพัฒนาประเทศ เพราะก่อนหน้านั้น ญี่ปุ่นไม่เพียงแต่สิ้นหวังกับสงคราม แต่ยังสิ้นหวังกับอนาคตของชาติที่จะดำเนินต่อไปในอนาคตด้วย วิธีนี้จึงเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นคิดมานานแล้ว

หากเราบิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์แบบนี้ เราต้องประเมินถึงผลกระทบจากสิ่งที่เราคิดขึ้นมาด้วย สิ่งที่ต้องคิดอันดับแรกคือคิดว่าแนวคิดของเราจะสร้างผลกระทบกับผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้าไม่ก็ลงมือเลยครับ


การจบเรื่องแบบไม่จบหมายถึงการที่เราไม่สรุปความเป็นไปให้ชัดเจน คือเราปล่อยให้เรื่องดำเนินมาถึงจุดสุดท้าย แต่เราไม่สรุปว่าทำไมถึงต้องจบแบบนี้ แต่การจบเรื่องแบบไม่จบนี้สามารถทำให้ผู้ที่อ่านงานเขียนสามารถพึงพอใจ และรู้สึกประทับใจกับเรื่องสั้นของเราได้ และที่สำคัญ การจบเรื่องแบบไม่จบจะทำให้เรื่องสั้นของเราทรงพลังได้เพราะนักอ่านสามารถนำไปคิดต่อได้

การจบเรื่องแบบนี้สามารถนำมาใช้ได้กับเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับความเชื่อ บางทีเราอาจจะคิดว่าอาจจะไม่เหมาะสมที่จะตัดสินว่าความเชื่อแบบใดถูกหรือความเชื่อแบบใดผิด เราชิงจบเรื่องก่อนเลยโดยที่ในตอนแรกอาจจะแค่อธิบายความเชื่อความศรัทธาของแต่ละคน ความจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน และวิธีคิดของแต่ละคนที่ใช้เหตุผลกันคนละอย่าง บวกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสอดคล้องหรือขัดแย้งกับตัวตนของตัวละคร

ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 ที่พูดถึงเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อในเรื่องบั้งไฟพญานาค ซึ่งในตอนนั้นที่ภาพยนตร์ออกฉายในโรงภาพยนตร์ มีกระแสจากทั้งผู้ที่เชื่อว่าเป็นบั้งไฟจากพญานาคจริง อีกฝั่งหนึ่งคิดว่าเป็นฝีมือของมนุษย์ และอีกแนวคิดบอกว่าเป็นปรากฏการณ์จากธรรมชาติ หากผู้เขียนบทภาพยนตร์ในตอนนั้นฟันธงไปว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากอะไรกันแน่ อาจจะสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ผู้เขียนบทภาพยนตร์ก็เลยใช้วิธีจบเรื่องแบบไม่จบ เพื่อตัดปัญหาเหล่านั้นออกไปเสีย

ในตอนจบเรื่องของภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 ภาพยนตร์เฉลยว่าแท้จริงแล้วบั้งไฟเกิดจากฝีมือมนุษย์ แต่ในปีนั้นมนุษย์ผู้ที่นำลูกไฟไปจุดใต้ทะเลเกิดตายก่อน หลวงพ่อที่เป็นผู้สร้างลูกไฟจึงต้องดำน้ำลงไปจุดลูกไฟเอง แต่หลวงพ่อก็ไม่รอด มีพระเอกคนเดียวที่รู้ความจริงทั้งหมด หลวงพ่อบอกเหตุผลที่ทำแบบนี้กับเขาว่าเพื่อให้ชาวบ้านมีศรัทธาในการทำความดี แต่พระเอกไม่เห็นด้วยและเริ่มสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น สุดท้ายในขณะที่พระเอกหมดความศรัทธา ลูกไฟจำนวนมากผุดขึ้นมาจากท้องน้ำโดยที่เขาแน่ใจว่านี่ไม่ใช่ฝีมือของหลวงพ่อแน่ บทสรุปของเรื่องนี้ก็คือลูกไฟที่พุ่งสู้ท้องฟ้าจำนวนมากนี้สามารถเกิดได้จาก 3 สาเหตุ อาจจะเป็นมนุษย์ เพราะมีความเป็นไปได้ว่ามนุษย์อีกกลุ่มที่สร้างลูกไฟขึ้นมา หรือเกิดจากก๊าซใต้ท้องน้ำถูกแรงดึงดูดจาดดวงจันทร์ทำให้เกิดลูกไฟ หรือบางทีอาจจะเกิดจากพญานาคจริงๆก็เป็นได้

จากแนวทางการจบเรื่องที่กล่าวไปนั้น มักจะเป็นวิธีที่เราเห็นกันบ่อยๆในงานวรรณกรรม แต่ถ้าหากเราคิดวิธีการไหนที่นอกเหนือจากนี้ได้ ก็ถือว่าเป็นความสามารถของนักเขียนที่พยายามหาแนวทางใหม่ๆให้กับงานวรรณกรรม ไม่ให้มันซ้ำซากจำเจมากเกินไป

ความคิดเห็น