บทที่ 3 การสร้างและเรียงลำดับเหตุการณ์

เริ่มต้น

ลำดับเหตุการณ์เหมือนกับแกนของเรื่องที่จะทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปในทิศทางไหน เนื้อหาในเหตุการณ์เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่ง การนำเสนอเหตุการณ์ก็มีกลวิธีมากมายที่จะนำเสนอออกมาเพื่อเพิ่มอรรถรสให้กับเรื่องสั้นของเรา การสร้างเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องที่ดี ก็เหมือนกับเราสร้างรากฐานของอาคารได้ดี หลังจากที่เราออกแบบมันมาแล้ว เมื่อรากฐานดี หลังจากนั้นเราก็สามารถสร้างองค์ประกอบมาแต่งแต้มเนื้อหาเรื่องสั้นของเราได้ง่ายขึ้น และสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

เมื่อเราคิดได้แล้วว่าเราจะเขียนเกี่ยวกับอะไร และต้องการให้งานเขียนนำเสนออะไรออกมาจากนั้นเราก็มาสร้างเหตุการณ์ว่าจะให้เกิดอะไรขึ้นบ้างในเรื่องสั้นของเรา ความจริงแล้วเนื้อหาเหตุการณ์เราสามารถเขียนเมื่อเราคิดอะไรออกมาก็ได้ แต่มีองค์ประกอบของการสร้างเนื้อหาเหตุการณ์เรื่องสั้นบางอย่างที่เราควรพิจารณา เพื่อให้ได้เค้าโครงเรื่องสั้นที่ดีและง่ายต่อการเขียนงานต่อไป

  • ความสมจริงของเนื้อหา
  • แต่ละเหตุการต้องเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
  • ความซับซ้อนที่พอเหมาะของเนื้อหา

ความสมจริงของเนื้อหา

ความสมจริงจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องสั้นของเราสามารถเข้าใจได้ง่ายจากผู้อ่านงานเขียนของเรา ความสมจริงในงานวรรณกรรมนั้นไม่ได้หมายถึงความเป็นได้ของเหตุการณ์ที่สามารถเกิดได้ในโลกความเป็นจริง เช่นรถยนต์วิ่งบนพื้น รถยนต์วิ่งบนพื้นคือสามัญสำนึกของคนเราที่เข้าใจอยู่แล้วในโลกความเป็นจริง คนอ่านย่อมมีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ถ้าหากเราเขียนว่ารถยนต์วิ่งฝ่าสายลมบนอากาศ นี่ไม่ใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง (อย่างน้อยก็ในยุคนี้) แต่ถัาเราระบุไว้ในเรื่องสั้นว่ารถยนต์วิ่งบนอากาศได้เพราะเวทย์มนต์ของพ่อมดในเรื่องสั้นแนวแฟนตาซี หรือมันขับเคลื่อนด้วยพลังไอพ่นหรือพลังงานต้านแรงโน้มถ่วงในเรื่องสั้นที่เขียนเกี่ยวกับอนาคต นั่นก็ถือว่ารถยนต์ที่วิ่งบนอากาศนั้นยังสมจริงสมจังอยู่ คือเราต้องสามารถอธิบายได้ว่าเหตุการณ์ที่ดูประหลาดๆนั้นมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถ้าเราให้รถยนต์วิ่งบนอากาศได้โดยที่ในเรื่องไม่มีพ่อมดที่มีเวทย์มนต์ ไม่มีเทคโนโลยีใดๆที่รองรับให้รถยนต์วิ่งได้บนอากาศ นั่นก็ไม่สมจริงแล้ว อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านเรื่องสั้นของเราได้

สิ่งที่พูดถึงในย่อหน้าข้างบนนั้นหมายถึงว่าเราสามารถเขียนอะไรที่มันอยู่นอกเหนือสามัญสำนึกของคนทั่วไปก็ได้ แต่ต้องอธิบายได้ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แม้สิ่งที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเราจะไม่สามารถอธิบายมันได้ต่อไปว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่นเราอธิบายว่ารถยนต์วิ่งบนอากาศได้เพราะพ่อมดใช้เวทย์มนต์ทำให้รถยนต์วิ่งบนอากาศ แต่เราไม่สามารถอธิบายได้ว่าพ่อมดเกิดขึ้นมาจากไหนและหลักการทำงานของเวทย์มนต์มันเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เราอาจจะมองข้ามไปก็ได้เพราะมันจะดูยิบย่อยไปหน่อยและคนอ่านพอจะเข้าใจได้บ้าง

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ดูสมจริง

  1. ชายหนุ่มไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาท เขาปล้นธนาคาร
  2. เขาอัดด้ามปืมลูกซองเข้าที่หัวของยาม จนยามสลบ
  3. โจรบอกให้พนักงานนำเงินสดในลิ้นชักใส่กระเป๋า
  4. ชายหนุ่มกวาดกระบอกปืนไปมาทำให้ปลายกระบอกปืมพลัดไปโดนกระปุกออมสินของเด็กน้อยที่อยู่ช่องเคาท์เตอร์ถัดไปตกแตก
  5. เด็กร้องไห้เสียงดัง
  6. โจรหยิบธนบัตรหนึ่งปึกให้เด็กน้อยและรีบหอบกระเป๋าหนีออกจากธนาคาร
จากตัวอย่างนี้เราลองอ่านซ้ำหลายๆรอบ ถ้าเราไม่รู้สึกว่ามันดูไม่สมจริงเท่าไหร่ เราก็พอจะผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ แต่ถ้าอ่านแล้วเรารู้สึกว่ามันดูไม่น่าจะสมจริง ก็ควรปรับแก้เนื้อหาจนกว่าจะพอใจตั้งแต่ขั้นตอนนี้ เพราะถ้าเราไม่แก้ไขในขั้นตอนนี้ก่อน เราอาจจะเจอปัญหาและความยากในขั้นตอนถัดไปจนอาจทำให้งานเขียนล้มเหลวก็เป็นได้

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ดูไม่สมจริง (ในมุมมองของผู้เขียน แต่สำหรับผู้อ่านแล้วอาจจะทำให้มันดูสมจริงได้)

  1. ชายหนุ่มไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาท เขาปล้นธนาคาร
  2. เขาอัดด้ามปืมลูกซองเข้าที่หัวของยาม จนยามสลบ
  3. โจรบอกให้พนักงานนำเงินสดในลิ้นชักใส่กระเป๋า
  4. ชายหนุ่มกวาดกระบอกปืนไปมาทำให้ปลายกระบอกปืมพลัดไปโดนกระปุกออมสินของเด็กน้อยที่อยู่ช่องเคาท์เตอร์ถัดไปตกแตก
  5. เด็กร้องไห้เสียงดัง ก่อนจะหยีบมีดที่เหน็บไว้ที่หลังขึ้นมาแทงโจรตายคาที่
ในมุมมองของผู้เขียนเองแล้วไม่เคยมีความเชื่อเลยว่าเด็กน้อยจะพกอาวุธมีดเดินเข้าธนาคาร แม้จะมีเขาก็คงไม่บ้าพอที่จะใช้มีดแทงชายหนุ่มที่ถือปืนลูกซองไว้ในมือ และถึงแม้เด็กน้อยจะบ้าพอแต่โจรคงไม่ปล่อยให้ตัวเองโดนแทงง่ายๆ สุดท้ายผู้เขียนก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับพลังภายใน จึงเป็นไม่ได้ที่จะให้เด็กน้อยทำเรื่องที่เหลือเชื่อแบบนี้ แต่ถ้าเป็นมุมมองของผู้อ่านเองก็แล้วแต่ว่าผู้อ่านจะมีความเชื่ออย่างไร

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ดูสมจริง

  1. มหาเศรษฐีกำลังจะล้มละลายและกำลังป่วยใกล้ตาย
  2. บริษัททางการเงินเข้ามาขนทรัพย์สินทั้งหมดในบ้านออกไป
  3. มหาเศรษฐีต่อลองกับนายธนาคารว่าขอเขาเก็บภาพวาดเก่าๆในกรอบไม้ผุๆ
  4. นายธนาคารยินยอมเพราะเห็นว่าเคยเป็นลูกค้าชั้นดี และภาพเก่าคงไม่มีราคา
  5. ก่อนมหาเศรษฐีจะตาย เขาบอกกับลูกชายว่าในภาพวาดนั้นมีหมายเลขบัญชีสถาบันทางการเงินจากต่างประเทศ และรหัสลับสำหรับถอนเงินซ่อนอยู่บนภาพ
  6. มหาเศรษฐีบอกว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินที่เขายักยอกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นเองมาตลอดทั้งชีวิต และสะสมมันไว้

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ดูไม่สมจริง (ในมุมมองของผู้เขียน แต่สำหรับผู้อ่านแล้วอาจจะทำให้มันดูสมจริงได้)

  1. มหาเศรษฐีกำลังจะล้มละลายและกำลังป่วยใกล้ตาย
  2. บริษัททางการเงินเข้ามาขนทรัพย์สินทั้งหมดในบ้านออกไป
  3. มหาเศรษฐีต่อลองกับนายธนาคารว่าขอเก็บตู้เซฟเก่าๆไว้หนึ่งใบ
  4. นายธนาคารยินยอมเพราะเห็นว่าเคยเป็นลูกค้าชั้นดี และตู้เซฟที่เก่าแล้วไม่มีราคาและในนั้นคงไม่มีอะไรที่มีค่า
  5. ก่อนมหาเศรษฐีจะตาย เขาบอกรหัสเปิดเซฟให้ลูกชาย
  6. มหาเศรษฐีบอกว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินที่เขายักยอกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นเองมาตลอดทั้งชีวิต และสะสมมันไว้
ผู้เขียนคิดว่านายธนาคารต้องยึดตู้เซฟไว้แน่ๆ คงไม่มองว่ามันไร้ค่า

ผู้เขียนอธิบายไปแล้วว่าการสร้างเนื้อหาเหตุการณที่สมจริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับการสร้างโครงสร้างของตึกเราต้องใช้เสาแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของหลังคาได้ ถ้าเราใช้เสาที่เล็กเกินไปไม่รองรับน้ำหนักของหลังคาตามความเป็นจริงได้ อาคารก็อาจจะถล่มลงมา เช่นเดียวกันกับการสร้างเนื้อหาเรื่องสั้นที่สร้างเหตุการณ์ที่ไม่สมจริง นั่นก็อาจจะทำให้งานเขียนของเราล้มเหลวได้ง่าย

แต่ละเหตุการต้องเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

ในเรื่องสั้นมักจะมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นเรียงลำดับกัน แต่ละเหตุการณ์ก็เหมือนกับชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ แต่ละชิ้นของจิ๊กซอว์จะเขื่อมโยงกับอีกชิ้นส่วนหนึ่งหรืออาจจะไม่เชื่อมโยงกันก็ได้ แต่ผลสุดท้ายเมื่อทุกชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์มาประกอบกันเสร็จสมบูรณ์ มันก็ต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอยู่ดีมันถึงจะสมบูรณ์ในตัวของมันเอง เรื่องสั้นก็เช่นเดียวกันกับจิ๊กซอว์ ทุกเหตุการณ์ต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ไม่ควรมีเหตุการณ์ไหนที่เกิดขึ้นมาเดี่ยวๆและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไหนเลย เพราะเรื่องสั้นมีข้อจำกัดที่ความสั้น เหตุการณ์ที่ไม่เชื่อมโยงใดๆกับใครจะไร้ประโยชน์ เปลืองเนื้อที่และอาจทำให้ผู้อ่านงานเขียนสับสน

จากตัวอย่างในหัวข้อที่แล้ว หากย้อมกลับไปดูและลองพิจารณา จะเห็นว่าทุกเหตุการณ์จะมีความเขื่อมโยงซึ่งกันและกัน ลองดูตัวอย่างเหตุการณ์อีกครั้ง
  1. ชายหนุ่มไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาท เขาปล้นธนาคาร
  2. เขาอัดด้ามปืมลูกซองเข้าที่หัวของยาม จนยามสลบ
  3. โจรบอกให้พนักงานนำเงินสดในลิ้นชักใส่กระเป๋า
  4. ชายหนุ่มกวาดกระบอกปืนไปมาทำให้ปลายกระบอกปืมพลัดไปโดนกระปุกออมสินของเด็กน้อยที่อยู่ช่องเคาท์เตอร์ถัดไปตกแตก
  5. เด็กร้องไห้เสียงดัง
  6. โจรหยิบธนบัตรหนึ่งปึกให้เด็กน้อยและรีบหอบกระเป๋าหนีออกจากธนาคาร
แม้ว่าเหตุการณ์ที่ 1 กับเหตุการณ์ที่ 6 มันดูจะไม่เป็นเหตุเป็นผลกันเลย เรามองไม่ออกว่าโจรจะหยิบธนบัตรให้เด็กน้อยทำไม แต่ถ้าเราไปอ่านเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นแล้วจะทำให้เราเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่โจรให้เงินกับเด็ก

จากตัวอย่างข้างบน มันเป็นเหตุการณ์ที่ดำเนินต่อกันมาและเชื่อมโยงกัน แต่ในบางครั้งการเชื่อมโยงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นจะไม่เชื่อมโยงกันโดยสมบูรณ์ ต้องมีตัวเชื่อมสุดท้ายดังตัวอย่างต่อไปนี้
  1. มหาเศรษฐีกำลังจะล้มละลายและกำลังป่วยใกล้ตาย
  2. บริษัททางการเงินเข้ามาขนทรัพย์สินทั้งหมดในบ้านออกไป
  3. มหาเศรษฐีต่อลองกับนายธนาคารว่าขอเขาเก็บภาพวาดเก่าๆในกรอบไม้ผุๆ
  4. นายธนาคารยินยอมเพราะเห็นว่าเคยเป็นลูกค้าชั้นดี และภาพเก่าคงไม่มีราคา
  5. ก่อนมหาเศรษฐีจะตาย เขาบอกกับลูกชายว่าในภาพวาดนั้นมีหมายเลขบัญชีสถาบันทางการเงินจากต่างประเทศ และรหัสลับสำหรับถอนเงินซ่อนอยู่บนภาพ
  6. มหาเศรษฐีบอกว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินที่เขายักยอกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นเองมาตลอดทั้งชีวิต และสะสมมันไว้
หากเราดูเหตุการณ์ที่ 1 ถึง 5 มันก็ดูจะเชื่อมโยงกันดี แต่นั่นยังไม่สมบูรณ์ ในเหตุการณ์ที่ 6 จะเป็นชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ส่วนสุดท้ายที่จะทำให้เรื่องสั้นของเราสมบูรณ์แบบ เหตุการณ์ที่ 6 นั้นเราจะทำให้เป็นเหตุการณ์ที่มหาเศรษฐีพูดกับลูกชายเอง หรือจะให้เป็นคำพูดจากผู้แต่งเรื่องสั้นเองบอกกับผู้อ่านเรื่องสั้นก็ได้

ตัวอย่างต่อไปนี้จะแสดงถึงการสร้างเหตุการณ์ที่ไม่เชื่อมโยงกัน ไม่เป็นเหตุเป็นผลร่วมกัน

  1. ชายชราถือปืนเดินเข้าไปในร้านอาหาร
  2. เขายิงปืนขู่ 3 นัดและตะโกนด่าทอเจ้าของร้าน
  3. ก่อนวิ่งหนีออกไปเขายิงปืนเข้ากลางหัวของลูกค้ารายหนึ่ง
3 เหตุการณ์สั้นๆนี้ถ้าดูเพียงเผินๆก็ไม่รู้สึกว่ามันขัดอะไร แต่ถ้ามองในมุมมองนักอ่าน เขาจะตั้งข้อสงสัยและไม่เข้าใจถึงการกระทำของชายชรา ถ้าตอนจบเราได้บอกผู้อ่านว่าทำไมชายชราต้องยิงหัวของลูกค้ารายนั้นด้วยก็จะทำให้เรื่องสั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
  1. หญิงสาวในชุดนักศึกษาขับรถด้วยความเร็วสูง
  2. ในถนนอีกเส้นที่ห่างไปหลายกิโลเมตร รถยนต์ของชายหนุ่มประสบอุบัติเหตุพลัดตกลงเขาไป
  3. หญิงสาวถึงที่หมายร้านอาหาร
  4. เวลาผ่านไปไม่นานเพื่อนๆของเธอตามมาสมทบพร้อมสั่งอาหารกินกัน
ตัวอย่างนี้จะเห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์ที่ 2 นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆเลยกับเหตุการณ์โดยรวม วิธีแก้ไขมี 2 วิธีการคือตัดเหตุการณ์ที่ 2 นั้นทิ้งไป หรืออาจะสร้างความเชื่อมโยงให้เข้ากับเนื้อหาโดยรวมในเรื่อง เช่นสุดท้ายอาจจะบอกว่า ชายหนุ่มที่ประสบอุบัติเหตุนั้นเป็นคนรักของเธอ ที่กำลังจะมาร่วมฉลองงานวันเกิดของหญิงสาว เขาขับรถลงจากดอยที่เขาเป็นเจ้าของรีสอร์ทอยู่บนนั้น

การสร้างความเชื่อมโยงเพื่อให้ทุกๆเหตุการณ์มีความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันนั้น มีความจำเป็นในการสร้างโครงสร้างของเรื่องสั้นให้สมบูรณ์ ทุกส่วนต้องมีความสัมพันธ์และมีประโยชน์ที่จะเขียนมันขึ้นมา ไม่อย่างนั้นแล้วจะกลายเป็นว่าเราใช้พื้นที่ของเรื่องสั้นโดยเปล่าประโยชน์และอาจสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านงานเขียนของเราได้

ความซับซ้อนของเนื้อหา

เรื่องนี้ผู้ที่เขียนเรื่องสั้นจะต้องตัดสินใจและคาดคะเนเองว่า เราจะเพิ่มความซับซ้อนของเรื่องมากน้อยเท่าไหร่ การสร้างโครงเรื่องที่ไม่ซับซ้อนอาจจะทำให้ง่ายในการอ่านและทำความเข้าใจ แต่มันก็ทำให้ขาดความน่าสนใจและน่าติดตามเพราะอาจจะอ่านไม่สนุกเท่าไหร่ การสร้างความซับซ้อนที่มากเกินไปก็อาจทำให้เรื่องสั้นของเรายากที่จะติดตามและทำความเข้าใจ แม้มันจะทำให้เนื้อเรื่องสนุกสนานเพียงใดแต่ถ้าผู้อ่านเลิกอ่านมันไปก่อนก็ไม่มีประโยชน์อันใด

ความซับซ้อนของเรื่องสั้น เราอาจจะใช้ความสัมพันธ์ของตัวละครที่เกี่ยวพันกันหลายๆคนมาสร้างโครงเรื่องก็ได้ ตัวอย่างเช่น
  1. นายเอเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางบี
  2. นายซีเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางดี
  3. นายเอเคยคบหาอยู่กับนางดี
  4. นายซีเคยคบหาอยู่กับนางบี
หากเราตั้งโจทย์ความสัมพันธ์ของตัวละครเป็นแบบนี้ จากนั้นเราก็มาสร้างเหตุการณ์เข้าไปประกอบ มันก็จะมีความซับซ้อนในระดับหนึ่งที่เราอาจจะพอใจ แต่ถ้าหากเราคิดว่ามันซับซ้อนเกินไปเราอาจจะตัดความสัมพันธ์ออกไปสักหนึ่งอย่างก็ได้ เช่น
  1. นายเอเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางบี
  2. นายซีเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางดี
  3. นายเอเคยคบหาอยู่กับนางดี
หรือถ้าหากเราคิดว่ามันยังซับซ้อนน้อยไป เราก็เพิ่มความสัมพันธ์ให้ซับซ้อนเข้าไปอีก เพื่อจะสามารถสร้างเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องได้เพิ่มมากขึ้น
  1. นายเอเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางบี
  2. นายซีเป็นแฟนหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจอยู่กันนางดี
  3. นายเอเคยคบหาอยู่กับนางดี
  4. นายซีเคยคบหาอยู่กับนางบี
  5. นายเอและนายซีแอบคบหากันอยู่ลับๆ โดยที่แฟนสาวของทั้งคู่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย
ตัวอย่างโครงเรื่องสั้นจากความซับซ้อนที่ยุ่งเหยิง

ทศพรยืนอยู่หน้าร้านขายดอกไม้ เขาเลือกดอกไม้เพียงหนึ่งช่อเพื่อมอบให้กับใครคนหนึ่ง เขาลำบากใจที่จะเลือกว่าใครควรเป็นคนได้รับมอบช่อดอกไม้นี้ในวันแห่งความรัก อดีตคนรักของเขานั้นเธอดีกับเขามากที่สุด ทศพรอยากตอบแทนความดีที่เธอเคยมีให้ แฟนสาวอีกคนที่กำลังคบหากันก็เป็นคนที่ทำให้เขามีความสุขเช่นกัน แต่กับคนอีกคนหนึ่งก็ทำให้ทศพรมีความสุขเช่นกัน เมื่อคิดถึงชายหนุ่มที่กำลังแอบคบหาดูใจกันอยู่ และมีความสัมพันธ์กันอย่างลับๆ สุดท้ายทศพรเลือกเขียนชื่อ 'ดนัย' ลงไปในท้ายกระดาษที่แนบมากับช่อดอกไม้

ความซับซ้อนอาจจะไม่ได้มาจากความสัมพันธ์ของตัวละคร แต่อาจจะมาจากเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคนก็ได้ นี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความหลากหลายของเรื่องสั้น ลองอ่านตัวอย่างเรื่องสั้นที่ผู้เขียนแต่งขึ้นจากลิงค์ข้างล่างนี้ ในเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครก็แค่เป็นเพื่อนกัน แต่ประเด็นปัญหาของแต่ละคนมันอาจจะดูขัดแย้งกันในแต่ละตัวละคร


การเรียงลำดับเหตุการณ์ในเรื่องสั้น

เพื่อความหลากหลายและไม่ซ้ำซาก อีกทั้งยังเพิ่มความน่าสนใจให้กับเรื่องสั้นได้ คือการเล่าลำดับเหตุการณ์ที่ไม่ต่อเนื่องกัน คือการเล่าจากปัจจุบันย้อนกลับไปหาอดีตบ้าง เล่าข้ามจากปัจจุบันไปหาอดีตหรืออนาคตแล้วย้อนกลับมาที่ปัจจุบัน หรือบางทีถ้าเราคิดว่าองค์ประกอบเรื่องสั้นของเราน่าสนใจอยู่แล้ว เราอาจจะสร้างเหตุการณ์ให้เรียงลำดับต่อเนื่องไปก็ได้ไม่ต้องสลับลำดับเหตุการณ์ให้ยุ่งยาก แต่ถ้าอยากเพิ่มอรรถรสให้เรื่องสั้นของเรา การสลับลำดับของเหตุการณ์ในเรื่องสั้นก็ดูน่าสนุกดี

โครงเรื่องสั้นที่เหตุการณ์เรียงลำดับต่อเนื่อง

  1. เด็กน้อยตัดสินใจเดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ
  2. เขาไปทำงานกับร้านขายข้าวหมูแดง
  3. ไม่นานร้านอาหารปิดกิจการ
  4. เด็กน้อยหางานรับจ้างทำกับเพื่อนที่รู้จักกัน
  5. วันหนึ่ง เขาเห็นค่ายมวยและขอเข้าไปฝึกซ้อม
  6. เจ้าของค่ายเห็นแวว จึงให้เข้ามาซ้อมอย่างจริงจังในค่าย
  7. ฝีมือของเขาดี สามารถชนะบนเวทีได้ทุกครั้ง
  8. เขาส่งเงินไปให้ทางบ้านใช้จ่าย
  9. อยู่มาวันหนึ่ง พ่อแม่ของเขากู้เงินจากธนาคารมาเป็นจำนวนมาก เพื่อปลูกบ้านหลังใหญ่ เขาหาเงินไม่ทันจ่ายธนาคาร
  10. โปรโมเตอร์ทาบทามให้เข้าขึ้นชกกับนักมวยที่มีชื่อเสียง
  11. เขาตัดสินใจใช้เงินเก็บทั้งหมดเดิมพันข้างตัวเอง เพื่อหวังใช้หนี้ธนาคาร
  12. เมื่อการชกเริ่มขึ้น ทั้งคู่ชกกันอย่างสูสี
  13. ในระหว่างพักยกเกือบจะสุดท้าย เพื่อนของเขาขึ้นมาบอกอะไรบางอย่าง
  14. เพื่อนของเขาขึ้นมากระซิบบอกให้เขาล้มมวย
  15. นักชกผู้มีชื่อเสียงชกจนเขาสลบคาเวที
  16. ในเวลาต่อมา นักชกผู้มีชื่อเสียงคนนั้นเดินทางไปหาเขาที่บ้าน ที่อยู่ในชนบทอันห่างไกล
  17. นักชกผู้มีชื่อเสียงให้เงินเขา 3 แสนเป็นค่าล้มมวย
นี่คือตัวอย่างของการเรียงลำดับเหตุการณ์ให้ต่อเนื่องกัน อาจเป็นโครงเรื่องชิ้นแรกที่เราร่างมันออกมาได้อย่างสมบูรณ์ แต่เราสามารถที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงลำดับเหตุการณ์ใหม่ให้ไม่ต้องเรียงต่อเนื่องกันก็ได้ มีความเป็นไปได้หลายอย่างที่จะเล่าเรื่องโดยสลับฉากไปมาเช่นการเล่าจากเหตุการณ์ที่เราร่างขึ้นมา และผู้เขียนจะลองเอาเหตุการณ์บนเวทีมวยในครั้งที่ชายหนุ่มกำลังชกกับนักชกผู้มีชื่อเสียงมาเล่าสลับฉากกับเหตุการณ์ในอดีต และสุดท้ายจะให้เหตุการณ์ทั้งสองเส้นทางมาบรรจบกัน ลองอ่านเรื่องสั้นจากลิงค์ข้างล่างนี้


เรียงลำดับจากโดยเริ่มจากปัจจุบันย้อนกลับไปหาอดีต

หากเราใช้กลวิธีการเล่าเรื่องจากปัจจุบันย้อนกลับไปหาอดีต หมายถึงว่าเหตุการณ์เริ่มต้นจริงๆนั้นเกิดขึ้นมาแล้วจากอดีต แต่เรายังไม่พูดถึง เหตุการณ์เริ่มต้นนี้จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เราพูดถึง และจะใช้เหตุการณ์ในอดีตหรือเหตุการณ์เริ่มต้นเป็นจุดไคล์แมกซ์สำหรับหักมุมตอนจบ หรือใช้เฉลยถึงความจำเป็นที่ตัวละครต้องทำสิ่งนั้น

เรวดียอมให้สามีนำภรรยาน้อยเข้ามาอยู่ในบ้าน
ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ของเธอและสามีไม่ค่อยดีนัก
เรวดีได้เจอกับหมอดู ซึ่งทายทักให้เรวดีเปลี่ยนเฉดสีเสื้อผ้าและเครื่องสำอาง
เมื่อทำตามหมอ ปรากฏว่าสามีของเรวดีหันมาสนใจและใส่ใจเธอมากขึ้น
หมอดูบอกกับเรวดีว่าสามีของเธอเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ชั่วคราว หากอยากให้เปลี่ยนแบบถาวรต้องยอมให้สามีนำภรรยาน้อยเข้าบ้าน
สามีของเรวดีเป็นเพื่อนกับหมอดู พวกเขาวางแผนกัน

แบบฝึกหัด

ผู้อ่านลองคิดโครงเรื่องขึ้นมาสักเรื่อง เขียนเหตุการณ์ในแต่ละเหตุการณ์และพิจารณาให้มันเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

จากโครงเรื่องที่แต่งขึ้น ทดลองเปลี่ยนลำดับเหตุการณ์ในเรื่องสั้นไม่ให้ต่อเนื่องกัน ใช้จินตนาการเรียงลำดับมันใหม่

ความคิดเห็น