บทที่ 4 การสร้างฉากและตัวละคร

นักฟุตบอลเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกมลูกหนังดำเนินต่อไปได้จนจบ ความสนุกของเกมส์ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเตะแต่ละคนที่จะเล่นเกมได้อย่างสนุกสนานเพียงใด เช่นเดียวกันกับเรื่องสั้นที่แต่ละตัวละครจะต้องคอยขับเคลื่อนแต่ละเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องสั้นให้ดำเนินไปจนจบ และสิ่งที่บรรจุตัวละครไว้คือฉาก แต่ละฉากในเรื่องสั้นที่เราค่อยๆบรรจงสร้างมันขึ้นมาจะทำให้ความสมจริงนั้นปรากฏขึ้น

องค์ประกอบของเรื่องสั้นนั้นประกอบไปด้วยเหตุการณ์ ตัวละครและฉาก ความจริงแล้วเราจะเริ่มต้นเขียนจากองค์ประกอบไหนก็ได้ ไม่มีกฎว่าจะต้องเริ่มจากอะไรก่อน หากเราอยากสร้างเหตุการณ์ก่อน ตัวอย่างก็มีในบทที่ผ่านมาแล้ว แต่บางทีเราคิดถึงใครคนหนึ่งหรือลักษณะนิสัยของใครบางคนแล้วเราอยากเขียนเกี่ยวกับเขา เราสามารถสร้างตัวละครขึ้นมาก่อนได้ แล้วจึงใส่คุณลักษณะที่เราต้องการลงไป จากนั้นจึงค่อยคิดสร้างเหตุการณ์และฉากลงไปให้เหมาะกับลักษณะของตัวละครของเรา มีกฏเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการสร้างตัวละคร เพื่อให้พอมีตัวละครแล้วเราจะสามารถสร้างองค์ประกอบอื่นๆได้ง่ายขึ้น หรือบางทีเราอาจจะสร้างเหตุการณ์หรือฉากก่อน แต่เมื่อมาสร้างตัวละครลงไปเราต้องคำนึงถึงกฏเหล่านี้เพื่อที่อาจจะกลับไปแก้ไของค์ประกอบอื่นๆได้

ตัวละคร

  • ลักษณะนิสัยของตัวละคร
  • คุณลักษณะของตัวละคร
  • ความจำเป็นหรือความต้องการของตัวละคร
  • วิธีคิดของตัวละคร

ลักษณะนิสัยของตัวละคร

หากตัวละครของเราคือมนุษย์ เราต้องพยายามทำให้ลักษณะนิสัยของตัวละครใกล้เคียงกับคนจริงๆที่สุด แน่นอนว่าคนเราในโลกนี้ล้วนมีนิสัยที่แตกต่างกันเป็นเริ่องธรรมดา เช่น เห็นแก่ตัว ขี้โกง ชอบใช้ความรุนแรง โมโหง่าย โกรธง่าย ใจร้าย หรืออาจจะมีนิสัยในแง่ที่ดีคือ โอบอ้อมอารี ไม่เอาเปรียบใคร ไม่ชอบความรุนแรง ใจเย็น ฯลฯ ลักษณะนิสัยพื้นฐานเหล่านี้เรามีความจำเป็นที่จะต้องระบุให้ตัวละครแต่ละตัวของเรา แม้ว่าเราจะแต่งแค่เรื่องสั้น ความยาวของเนื้อเรื่องมีไม่มากนัก แต่อย่างน้อยที่สุดตัวละครหลักของเราก็ควรมีการระบุถึงเอกลักษณ์เหล่านี้ไว้ก่อนที่จะเริ่มเขียน เพราะบางครั้งการอธิบายถึงตัวละครให้ชัดเจน ก็อาจต้องใช้สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยเราได้เยอะ

สมชายเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง เขามีความยุติธรรมในจิตใจแต่เมื่อใครคิดจะมาเอาเปรียบเขา สมชายพร้อมที่จะลุยได้ทุกเมื่อ เนื้อแท้จิตใจเขาเป็นคนโอบอ้อมอารีย์ แต่เพราะมีปมหลังที่ความอยุติธรรมทำให้พ่อแม่ของเขาเสียชีวิต นั่นจึงทำให้สมชายรับไม่ได้กับความอยุติธรรมทั้งปวง

ตัวอย่างข้างบนนี้สมมุติว่าเป็นความคิดที่เราวาดไว้เกี่ยวกับตัวละครของเรา ตัวละครแบบนี้เราอาจจะนำไปใช้กับเรื่องสั้นแนวหักเหลี่ยมหรือมีการต่อสู้กัน แต่ถ้าหากเราเปลี่ยนให้เขามีนิสัยร่าเริง เจ้าสำอางหรือเป็นที่รักของคนรอบข้าง เราอาจจะให้สมชายไปโลดแล่นในเรื่องสั้นแนวรักๆใคร่ๆของเราก็ได้

คุณลักษณะของตัวละคร

คุณลักษณะของตัวละครก็คือสิ่งที่จะทำให้ตัวละครแต่ละตัวแตกต่างกัน  อย่างน้อยที่สุดตัวละครต้องมีชื่อเรียกที่ต่างกัน การตั้งชื่อตัวละครที่ซ้ำกันอาจสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านเรื่องสั้นของเราได้ ยกเว้นผู้แต่งเรื่องสั้นจะมีกลวิธีในการระบุตัวละครวิธีอื่น คุณลักษณะอื่นๆของตัวละครก็อาจจะเป็น หญิงชาย สูงต่ำ ดำขาว มีหนวด หัวล้าน ผมยาว เดินขากระเผก เป็นโรคร้่ายหรือโรคน่ารังเกียจ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณลักษณะภายนอกที่เราสามารถเพิ่มให้กับตัวละคร

ทั้งลักษณะนิสัยและคุณลักษณะที่เราจะเพิ่มใหกับตัวละครนั้น ต้องระบุเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากเราเพิ่มนิสัยหรือคุณลักษณะไหนไปแล้วมันไม่มีประโยชน์กับโครงเรื่องสั้นของเรา ก็ให้ตัดมันทิ้งออกไปไม่ต้องระบุก็ได้

ความจำเป็นหรือความต้องการของตัวละคร

ตัวละครทุกตัวมีจุดประสงค์ของตัวเองที่ต้องการบรรลุ ยิ่งตัวละครหลักเราต้องระบุให้ชัดเจนว่าเขาต้องการอะไร จากนั้นเราอาจจะเพิ่มอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของตัวละคร หรือแสดงวิธีการของตัวละครนั้นในการบรรลุผลลัพธ์ก็ได้

ในโครงเรื่องจะมีแรงขับเคลื่อนให้เหตุการณ์ดำเนินไป และความต้องการของตัวละครนี่แหละ ที่จะเป็นแรงผลักดันนั้น หากตัวละครหลักมีมากกว่าหนึ่งคน ความต้องการของพวกเขาอาจจะไม่เหมือนกัน และบางทีมันอาจจะขัดแย้งกันจนทำให้เกิดเรื่องราวที่จะมาทำเป็นโครงเรื่อง ตัวอย่างของความขัดแย้งของความจำเป็นของตัวละครสองคน

  1. สุชาติเป็นคนที่ชื่นชอบการกินกุ้ง จึงไปซื้อกุ้งที่ฟาร์มของเฮียฮ้อเป็นประจำ
  2. เฮียฮ้อแอบยัดเม็ดตะกั่วลงไปในหัวของกุ้งเพื่อทำให้กุ้งน้ำหนักดีขายได้ราคา เหตุเพราะฟาร์มของเฮียเกือบจะล้มละลายจึงต้องทำแบบนี้
  3. สุชาติเริ่มมีอาการป่วย และเขาจับได้ว่าเฮียฮ้อแอบยัดเม็ดตะกั่วลงไปในหัวกุ้งที่ขายให้กับลูกค้า
ผู้อ่านลองเข้าไปดูเรื่องสั้นตามลิงค์ข้างล่างนี้ เพื่อดูว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างจากความขัดแย้งเหล่านี้

วิธีคิดของตัวละคร

เรามีความจำเป็นต้องให้ตัวละครที่เราสร้างขึ้นมา มีแนวคิดเหมือนคนจริงๆ หรืออาจจะเป็นแนวคิดที่แปลกๆไม่เหมือนคนทั่วไป แต่เราก็ต้องสามารถอธิบายได้ว่าทำไหมตัวละครตัวนั้นถึงมีวิธีคิดแบบนี้ โดยเราจะใช้สามัญสำนึกทั่วไปของตัวผู้สร้างตัวละครในการพิจารณา

วิธีคิดของคนทั่วไปที่เราเห็นในสังคม (ซึ่งอาจจะมาจากคนใกล้ตัว คนรู้จัก หรือดูจากในข่าวหนังสือพิมพ์) ก็จะมีความรัก โลภ โกรธ หลงมาเป็นฐานความคิด ตัวละครหนึ่งอาจจะมีความรักเป็นพื้นฐานของความคิด การกระทำของเขาที่ออกมาจากแนวคิดของเขาเองนั้นก็จะแสดงออกถึงความรัก ตัวอย่างเช่น

ชายหนุ่มที่มอบความรักให้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน พ่อแม่พี่น้อง แฟนสาว เพื่อนที่ทำงาน เจ้านาย เขาเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีจึงทำให้ทุกคนรอบตัวเขาชื่นชอบในตัวชายหนุ่ม

จากตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่าวิธีคิดของตัวละครของเราคือเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี และพร้อมที่จะมอบความรักให้กับคนรอบข้าง เมื่อกำหนดวิธีิของตัวละครได้แล้ว เมื่อเราสร้างเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ให้กับตัวละครนั้น วิธีการตอบสนองของตัวละครก็จะสอดคล้องกับวิธีคิดของตัวละครตัวนั้น ลองดูตัวอย่างดังต่อไปนี้

ชายหนุ่มที่มีความรักอยู่ในหัวใจ อยู่มาวันหนึ่งเขาถูกแฟนสาวบอกเลิก ชายหนุ่มเศร้าเสียใจแต่ก็ยอมเลิกเพราะรักฝ่ายหญิง เวลาผ่านไปไม่นานหญิงสาวมาขอคืนดี ชายหนุ่มก็ยอมยกโทษให้และกลับมาคบกัน เหตุการณ์เป็นแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ จนครั้งสุดท้ายที่แฟนสาวมาขอคืนดี ชายหนุ่มรู้สึกโกรธและเบื่อหน่ายมากจึงไม่ยอมคืนดีด้วย

วิธีคิดของตัวละครของเรา เราจะเห็นว่าเขายอมให้อภัยกับแฟนสาวหลายครั้ง โดยไม่สนใจเหตุผลที่แฟนสาวหนีจากเขาไป เพราะวิธีคิดหรือจิตใจของชายหนุ่มคนนั้นยอมที่จะให้อภัยกับเธอ แต่คนเราทุกคนไม่ว่าจะมีวิธีคิดอย่างไรก็ต้องมีขีดจำกัด สุดท้ายชายหนุ่มก็เบื่อหน่ายและไม่ยอมที่จะให้อภัยแฟนสาวได้อีกแล้ว

หรือหากเราใช้พื้นฐานความคิดในทางโลภ โกรธ หลง เราก็ใช้สามัญสำนึกทั่วๆไปมากำหนดวิธีคิดของตัวละครได้เลย

ฉาก

ฉากก็เหมือนกับบรรจุภัณฑ์ที่จะเก็บทุกอย่างไว้ในนั้น และสิ่งต่างๆที่อยู่ในฉากก็จะโลดแล่นไปตามวิถีที่ผู้แต่งเรื่องสั้นจะปั้นแต่งมันขึ้นมา อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วว่า องค์ประกอบของเรื่องสั้นนั้นจะมี ฉาก ตัวละคร และเหตุการณ์ เราสามารถจะเน้นที่องค์ประกอบไหนเป็นหลักก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการบรรยายถึงองค์ประกอบไหนเป็นหลัก

ใช้ฉากหรือสถานที่เป็นหลักในการเล่าเรื่อง

หากเราจะพูดถึงฉากเป็นหลัก เราอาจจะอยากที่จะบรรยายถึงสถานที่สำคัญ หรือสถานที่ที่มีเหตุการณ์สำคัญเคยเกิดขึ้น เพื่อที่จะสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องสั้นของเรา สถานที่สำคัญของโลกก็เช่น พีระมิดกิซ่า ประเทศอียิปต์ วิหารพาร์เธนอนแห่งอะโครโพลิส ประเทศกรีซ สโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษ กาบา กรุงเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย พระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน กำแพงเมืองจีน ประเทศจีน ฯลฯ สถานที่ที่กล่าวไปนี้ล้วนมีเหตุการณ์สำคัญๆในประวัติศาสตร์โลกมากมายที่น่าสนใจ หากเราเขียนเรื่องสั้นของเราให้ไปดำเนินเรื่องยังสถานที่เหล่านั้น แม้เนื้อเรื่องจะไม่เกี่ยวข้องกับประวัตศาสตร์หรือเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้น แต่มันก็ดูเท่ห์ไม่น้อยที่ให้ไปเกิดเหตุคิดีฆาตรกรรมที่นั่น

หากผู้แต่งเรื่องสั้นมีความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถานที่เหตุการณ์สำคัญเหล่านั้น การนำความรู้บางเรื่องมาผูกโยงเข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้น จะเพิ่มความน่าสนใจและเพิ่มความเข้มข้นให้กับเรื่องสั้นของเราเป็นอย่างมาก หรือจะเป็นเรื่องราวในปัจจุบันที่ยังเกิดขึ้นกับสถานที่นั้นๆก็ดูน่าสนใจ

หากลองดูสถานที่ที่เคยเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สักแห่งหนึ่ง หากมองดูในประเทศไทยในเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ในเวลานั้นผู้คนต่างลำบากต้องคอยหลบระเบิด เมื่อมีสัญญาณจากทางการให้หลบภัย บางคนต้องหนีไปอยู่ต่างจังหวัดหรือในหลุมหลบภัยที่ทางการจัดไว้ให้

หากเราสามารถบรรยายถึงบรรยากาศของสถานที่ในช่วงเวลานั้นได้อย่างเห็นภาพ นั่นก็จะยิ่งสร้างความน่าสนใจและยังเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้ผู้ที่มาอ่านต่อไป เรื่องสั้นของเรายังทำหน้าที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกด้วย เมื่อเราตั้งใจแล้วว่าจะใช้สถานที่แห่งนี้และช่วงเวลานี้เป็นฉาก จากนั้นเราก็ค่อยมาสร้างตัวละครหรือจะสร้างเหตการณ์เพิ่มเข้าไปก็ได้ ลองดูตัวอย่างดังต่อไปนี้

วรชัยคิดถึงแฟนสาวที่บ้านของเธออยู่ติดกับหัวลำโพง เขาได้ข่าวว่าตอนนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการที่จะทำลายเส้นทางคมนาคมเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของทหารญี่ปุ่น จดหมายที่ได้รับล่าสุดจากแฟนสาวก็นานมากแล้ว วรชัยตัดสินในเดินทางจากต่างจังหวัดไปหาเธอที่หัวลำโพง เมื่อเขามาถึงบ้านเธอปรากฏบ้านเธอนั้นได้พังไปแล้วจากลูกระเบิดที่ถูกทิ้งมาจากเครื่องบิน แต่ทหารที่คุมพื้นที่บอกว่าทุกคนต่างหลบหนีไปอยู่ที่หลุมหลบภัยหมดแล้ว วรชัยจึงออกตามหา แต่ระหว่างนั้นทหารฝ่ายญี่ปุ่นเริ่มสงสัยว่าวรชัยจะเป็นสายลับของขบวนการใต้ดินเสรีไทย จึงต้องหนีหัวซุกหัวซุนและหายออกไปจากเมืองหลวง ในระหว่างที่หลบหนี วรชัยได้รับการช่วยเหลือจากคนที่เป็นกลุ่มเสรีไทยจริงๆ เพราะกลุ่มเสรีไทยเชื่อว่าวรชัยคือขบวนการใต้ดินเสรีไทยจริงๆเพราะถูกทหารญี่ปุ่นไล่ล่า เหตุการณ์วุ่นวายก็เกิดขึ้น สุดท้ายเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม วรชัยจึงมาค้นหาแฟนสาวของเขาอีกครั้งที่หัวลำโพง และเมื่อทั้งคู่เจอกันก็ต่างดีใจ

นี่คือโครงเรื่องคร่าวๆที่เราเน้นสถานที่จริงและบรรยากาศจริงจากช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ หากเราจะแต่งเรื่องสั้นโดยใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เรามีความจำเป็นต้องศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง และจะให้ดีต้องครบทุกด้านด้วย สถานที่สำคัญที่เคยเกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง บางที่เราอาจจะใช้สถานที่ใกล้ๆตัวเราที่เน้นความสวยงามน่าท่องเที่ยวมาเป็นตัวเดินเรื่องก็ได้ ตัวอย่างเรื่องสั้นต่อไปนี้จะเป็นเรื่องสั้นที่ผู้เขียนแต่งขึ้นโดยคิดถึงสถานที่ก่อน จากนั้นก็มาคิดว่าจะให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่นั่นดี และสุดท้ายก็มาสร้างตัวละครเข้าไป

http://shortstorylongcontent.blogspot.com/2013/06/blog-post_19.html

ใช้ฉากเป็นองค์ประกอบช่วยในการดำเนินเรื่อง

ถ้าหากเรามีสิ่งอื่นๆที่น่าสนใจกว่าในการที่จะใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดเค้าโครงเรื่อง เราสามารถนำฉากมาช่วยเสริมการดำเนินเรื่องให้ดำเนินไปได้อย่างสะดวก เช่นหากเรามีตัวละครที่ดูน่าสนใจ มีเหตุการณ์ที่ดูตื่นเต้นหรือแม้จะมีแค่แนวคิดอะไรเจ๋งๆสักอย่างหนึ่ง หากเราสร้างสิ่งเหล่านั้นออกมาได้เป็นรูปเป็นร่างแล้วจากนั้นเราค่อยมาคิดว่าตัวละครควรจะอยู่ในสถานที่แบบไหน หรือเหตุการณ์ที่เราคิดได้นั้นควรจะไปดำเนินที่ไหนดี

คำนึงดูว่าตัวละครที่เราบรรจงสร้างขึ้นมา เขาควรที่จะอยู่ในสถานที่แบบไหนดี ถึงจะทำให้พวกเขาได้โลดแล่นออกมาอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น หาเรากำลังจะเขียนถึงคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย เราต้องลองจินตนาการว่าสถานที่แบบไหนที่คนจะไปฆ่าตัวตาย อาจจะมีหลายๆสถานที่เช่น ตึกร้าง สะพานข้ามแม่น้ำ ใต้ต้นไม้ ถนนที่มีรถวิ่งเร็วและพลุกพล่าน หรือเด็กหนุ่มจากชนบทที่กำลังหลีกหนีความยากจน เขาต้องการมาแสวงหางานทำในเมือง สถานที่ก็คงต้องเป็นเมืองใหญ่เช่นเมืองหลวง

ในกรณีนี้เราไม่ได้เน้นเอาฉากหรือสถานที่เป็นหลักในการดำเนินเรื่อง บางทีเราอาจจะไม่ต้องระบุถึงสถานที่จริง หรือไม่ต้องบรรยายถึงสถานที่แห่งนั้นอย่างละเอียดก็ได้ เพราะเรื่องสั้นมีความยาวที่จำกัด เราควรเหลือพื้นที่ให้กับสิ่งที่เราต้องการเน้นจะดีกว่า โดยอาจจะแค่บอกว่าที่นี่เป็นบ้าน เป็นตึกสูง ในโรงเรียน กลางตลาด ในป่าทึบ ฯลฯ

 

ความคิดเห็น