บทที่ 2 สร้างความคาดหวังของผู้อ่าน

เริ่มต้น

คุณเคยไหมที่ดูภาพยนต์เรื่องโปรดของเราซ้ำไปซ้ำมาได้ไม่มีเบื่อ คุณคิดว่าเราติดใจอะไรกับภาพยนต์เรื่องนั้น และภาพยนต์เรื่องนั้นให้อะไรกับเรา การเขียนเรื่องสั้นก็คือศิลปะชนิดหนึ่งที่ผู้อ่านจะได้รับคืออารมณ์ความรู้สึกเหมือนกับที่เราได้จากการดูภาพยนต์ เราในฐานะผู้เขียนเรื่องสั้น สิ่งแรกก่อนที่จะวางโครงเรื่องอะไรทั้งสิ้น เราต้องตอบให้ได้ก่อนว่าเราอยากให้อะไรกับผู้อ่าน

อะไรคือความคาดหวังจากผู้อ่าน เราอาจจะต้องหาคำตอบนี้มาก่อน บางทีหากเรารู้ว่าเราจะเขียนเรื่องสั้นให้ใครอ่าน เราอาจจะพอคาดคะเนความคาดหวังจากกลุ่มคนเหล่านั้นได้ เช่นเขียนให้เด็ก 10 ขวบอ่าน คนวัยทำงาน คนแก่ชรา แต่ถ้าไม่ เราก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าอยากให้อะไรกับผู้อ่านเพื่อตอบสนองกลุ่มนักอ่านที่อาจคาดหวังสิ่งต่อไปนี้
  • ความสนุกจากการอ่าน
  • สนองอารมณ์ของผู้อ่าน
  • ข้อมูลความรู้ที่แปลกใหม่
  • ข้อมูลทางประวัติศาสตร์
  • แนวคิดของบุคคลสำคัญ
  • แนวคิดของใครสักคน

ความคาดหวังจากผู้อ่าน

หากเรื่องสั้นของเราสามารถตอบสะนองความคาดหวังจากผู้อ่านได้ แม้จะน้อยนิดหรือมาก นั่นก็หมายความว่าเรื่องสั้นของคุณประสบผลสำเร็จแล้ว ผู้อ่านลองคิดดูว่าจะสามารถตอบสนองความคาดหวังเหล่านี้ได้หรือไม่

ความสนุกจากการอ่าน

ความสนุกคือการที่เราได้ทำอะไรแล้วรู้สึกเพลิดเพลิน สบายใจ ทำแล้วไม่เบื่อง่ายๆ และแน่นอนว่าความสนุกของเรานั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเหมือนกับความสนุกของคนอื่น การอ่านก็เช่นกัน เรื่องสั้นแบบไหนที่จะทำให้คนอ่านเพลินเพลิน แน่นอนว่างานเขียนส่วนใหญ่ต้องการให้เนื้อเรื่องสนุกสนานสำหรับผู้ที่อ่านงานของเรา กลวิธีที่จะสร้างโครงของเรื่องสั้นให้สนุกก็คือทำให้เรื่องน่าติดตาม มีความตื่นเต้นเมื่ออ่านเนื้อเรื่องที่เหนือความคาดหมาย

การทำให้เนื้อเรื่องน่าติดตาม คือเราต้องพยายามสร้างเหตุการณ์ให้เนื้อเรื่องให้ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน มีความตื่นเต้นชวนระทึกและมีเนื้อเรื่องที่คาดไม่ถึง เมื่ออ่านแล้วสามารถดึงความสนใจให้ผู้อ่านไม่สามารถวางหนังสือลงได้จนกว่าจะอ่านจบ

สนองอารมณ์ของผู้อ่าน

อารมณ์ของผู้อ่านอาจรวมไปถึง อ่อนไหว เศร้า ซาบซึ้งใจ ประทับใจ ระทึกขวัญ สยองขวัญ โกรธแค้นชิงชัง

  • คุณคิดว่าเรื่องแบบไหนที่จะทำให้ผู้อ่านเรื่องสั้นน้ำตาซึมออกมาได้ เรื่องราวความรักที่มีอุปสรรคมากมายแต่ทั้งคู่ไม่ย่อท้อ หรือเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก เรื่องเหล่านี้สามารถที่จะสร้างความสั่นสะเทือนไปยังจิตใจของคนได้ง่ายกว่า ความอ่อนไหวเป็นของคู่กันกับมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าใครจะอ่อนไหวมากกว่ากัน
  • อารมณ์เศร้าสำหรับบางคนเป็นสิ่งที่สวยงาม น่าแปลกว่าบางครั้งการรับรู้เรื่องราวความโศรกเศร้า กลับทำให้จิตใจของเราเข้มแข็งขึ้น หรืออาจเป็นเพราะหัวใจเราจะเริ่มชินชากับมันไปก็เป็นได้ อย่างไรก็แล้วแต่ ความเศร้าเป็นอารมณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในงานศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี เพลง ภาพวาด ภาพยนต์

    อารมณ์ของความเศร้า ก็คือภาวะทางอารมณ์ที่เกิดจากการเสียใจ ลองนึกถึงเมื่อตัวเองเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเอง เช่นสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงมา 10 ปีตาย เมื่อมันตายเราจะเริ่มเสียใจร้องห่มร้องไห้ แต่เมื่อความเสียใจเริ่มเบาบางลงมันจะกลายเป็นความเศร้าที่ยังเกาะกุมที่หัวใจรอเวลาให้เราลืมไปเอง อาจจะนานหรือไม่นานก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความสูญเสีย หรือขึ้นอยู่กับความอ่อนไหวของผู้สูญเสีย แต่ถ้าเป็นความเศร้าที่มาจากงานเขียนเรื่องสั้นเราก็คงไม่เก็บความเศร้าไว้กับตัวเรานาน
  • ความซาบซึ้งใจ เมื่อเรามีอารมณ์ร่วมกับอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วทำให้เรารู้สึกปราบปลื้ม ซาบซึ้งไปกับเนื้อหา ความตื้นตันใจจะทำให้เกิดกำลังใจและคำปลอบใจหากเหตุการณ์นั้นเราเคยมีประสบการณ์ใกล้เคียงกับโครงเรื่อง
  • ระทึกขวัญคืออารมณ์ความตื้นเต้น การลุ้นถึงเหตุการณ์ที่ยากจะคาดเดาและดำเนินไปอย่างระทึกขวัญ การลุ้นหรือเอาใจช่วยอะไรสักอย่างให้เป็นไปตามที่เราได้คาดหวังไว้ เช่นลุ้นให้พระเอกรอดตาย ลุ้นให้โลกไม่ถูกนิวเคลียร์ระเบิด หรือลุ้นให้ตำรวจขับรถไล่ล่าจับผู้ร้ายที่ซิ่งรถหนีไปก่อนหน้าแล้ว เหตุการณ์ที่จะทำให้ระทึกขวัญจะต้องเป็นการลุ้นที่มีความตื่นเต้นจนถึงความเสียวมาเข้าร่วมด้วย แต่ถ้าเพียงแค่ลุ้นให้พระเอกรักกับนางเองอันนี้ไม่ถือว่าระทึกขวัญ

    โดยปกติคนเราชอบความตื่นเต้นไม่น่าเบื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่มักจะเคลิบเคลิ้มและถูกดึงดูดได้ง่ายจะอารมณ์ระทึกขวัญ การจะเขียนเรื่องสั้นให้มีอารมณ์ระทึกขวัญร่วมนั้น ผู้เขียนจะต้องมีจินตนาการที่สามารถเหมือนเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมาได้เองจริงๆและแนบเนียนที่สุด ยิ่งเป็นงานเขียนด้วยแล้ว การเลือกใช้คำจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิถีพิถันที่สุดในการที่จะสื่อถึงอารมณ์ระทึกขวัญออกมาได้
  • สยองขวัญ ความกลัวเป็นสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมัน เช่นการกลัวผี แต่ถ้าเรารู้จักมันเป็นอย่างดี เช่นฆาตรกรฆ่าเหยื่อโดยการชำแหละศพและแขวนอวัยวะแต่ละชิ้นส่วนไว้กับราวเหล็ก ถ้าเรารู้แล้วเรายังกลัวอยู่ และเข้าขั้นถึงขวัญกระเจิงไปเลย นั่นแหละคือความสยอง แม้แต่เรื่องเกี่ยวกับผี ถ้าเราอธิบายลักษณะและพฤติกรรมของผีให้ผู้อ่านเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว จากนั้นให้ผีตามไปแก้แค้นคนอื่นอย่างเลือดเย็น นั่นก็อาจสร้างความสยองขวัญได้
  • ความโกรธแค้นชิงชัง เมื่อเรื่องสั้นสร้างตัวละครที่ทำเรื่องไม่ดีจนสามารถสร้างความโกรธแค้นให้เราได้นั้น อาจเป็นเพราะเรื่องไม่ดีที่ตัวละครทำอาจเป็นเรื่องที่เราเคยมีประสบการณ์ที่คล้ายๆกัน เช่นสมมุติว่าเราแต่งเรื่องให้รัฐบาลเผด็จการ โกงกินสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน แน่นอนว่าผู้อ่านทุกคนที่เป็นประชาชนย่อมมีอารมณ์ร่วม ยิ่งถ้าหากประเทศนั้นเคยมีรัฐบาลแบบนั้นจริงๆ เขาเหล่านั้นก็จะยิ่งโกรธแค้นรัฐบาลที่อยู่ในเรื่องสั้นของเรา การแก้แค้นก็เป็นการจบเรื่องให้ผู้อ่านรู้สึกระบายความอัดอั้นตันใจออกไปได้

    ถ้าเราให้ตอนจบ ประชาชนสามารถขับไล่รัฐบาลออกไปได้และชัยชนะก็กลับมาสู่ประชาชนอีกครั้ง แม้สิ่งเหล่านี้มันจะมีอยู่แค่ในเรื่องสั้นของเรา แต่มันก็พอจะเล้าประโลมผู้อ่านของเราให้มีความสุขได้บ้างไม่มากก็น้อย

ข้อมูลความรู้ที่แปลกใหม่

เคยไหมเมื่อเราอ่านบทความทางวิชาการ หรือสารคดีอะไรสักอย่างมันช่างน่าเบื่อและไร้รสชาติสิ้นดี หากเรามีความรู้ชุดหนึ่งที่เราค้นคว้าออกมาได้ หรืออาจจะไปอ่านเรื่องราวแปลกๆใหม่ๆจากที่ไหนมาสักที่และเราอยากเอามันไปแบ่งปัน ถ้าเราเอาเรื่องราวนั้นมาเขียนหรือเล่าออกไปตรงๆ มันคงสู้ที่เราจะเอาหนังสือที่เราอ่านไปให้ผู้อ่านของเราเลยยังจะง่ายกว่า แต่ถ้าเราอยากทำให้มันสนุกและดูเป็นศิลปะ เราสามารถเอาความรู้เหล่านั้นมาให้เรื่องสั้นของเราบอกมันกับผู้อ่านของเราแทน ตัวอย่างเช่นหากเราเพิ่งจะดูสารคดีเกี่ยวกับดาวอังคารมา เราสามารถแต่งเรื่องสั้นให้สมมุติมีนักโทษหนีคดีจากบนโลกและหนีไปอยู่บนตาวอังคาร เขาคนนั้นจะเจออะไรบ้างเราก็เอาความรู้ที่เราดูสารคดีมาสร้างเหตุการณ์ได้เลย

หรือบางทีอาจจะเป็นแนวคิดของเราเองที่คิดขึ้นมาแต่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือเท็จแต่อย่างใด แนวคิดใหม่ๆเหล่านี้เราก็สามารถเอาแต่งเป็นเรื่องสั้นได้โดยที่ไม่ต้องไปสนใจว่าแนวคิดเราจะจริงเท็จเพียงใด หรือแม้มันจะหลุดโลกหลุดขอบจักรวาลออกไปไกลโพ้นเพียงใดเราก็อย่าให้มันเป็นกรอบในการจำกัดจิตนาการของเรา เช่นสมมุติว่าเรามีแนวคิดบ้าๆว่าโลกเรานั้นความจริงแล้วเป็นแค่บ่อทดลองเพาะเชื่อโรคของมนุษย์ต่างดาว และพวกเราคือเชื่อโรคที่ถูกทดลองถึงการวิวัฒนาการ อยู่มาวันหนึ่งโลกกำลังจะแตก น้ำทะเลเกิดสึนามิทุกแห่งหน ภูเขาไฟระเบิดและมีแผ่นดินไหว ผู้คนบนโลกคิดว่าโลกจะแตกเหมือนที่มีใครบางคนเคยทำนายไว้ แต่ความจริงแล้วคือมนุษย์ต่างดาวต้องการทำลายบ่อเพาะเชื้อโรคดวงนี้

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆนั้นล้วนมีคุณค่าแก่การศึกษา คุณประโยชน์ของการศึกษาประวัติศาสตร์นั้นจะทำให้เราเข้าใจในแนวคิดของคนรุ่นเก่า หรืออาจจะรู้ถึงข้อผิดพลาดของคนเหล่านั้นเพื่อที่เราจะไม่เดินย่ำซ้ำรอยอีกครั้ง ในบางครั้งการศึกษาเหตุการณ์หรือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็เป็นสิ่งบันเทิงของใครบางคนก็ได้ การนำประวัติศาสตร์มาเขียนเป็นเรื่องสั้นโดยอิงกับข้อมูลที่เราหยิบมาอ้าง จึงเป็นการเพิ่มความหน้าสนใจของเรื่องสั้นของเราได้เป็นอย่างดี

ในความเป็นจริงแล้วไม่มีความจริงในประวัติศาสตร์ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะปั้นแต่งหรือบิดเบือนมันอย่างไรก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการเขียนประวัติศาสตร์เล่มนั้นขึ้นมา ประวัติศาสตร์ทุกชิ้นงานจึงต้องมีการหาข้อสรุปใหม่ๆตลอดเวลาเมื่อค้นพบหลักฐานใหม่ๆ ดังนั้นประวัติศาสตร์อาจสามารถพลิกเปลี่ยนไปได้ทุกเมื่อ เช่นกันกับการนำประวัติศาสตร์มาเขียนเป็นเรื่องสั้น เราจะพลิกหรือบิดเบือนมันอย่างไรก็ได้ตามแต่จิตนาการของเรา แต่อาจมีข้อควรระวังคือการพลิกหรือบิดเบือนในบางประเด็นที่อ่อนไหวกับกลุ่มคนบางคนอาจสร้างความไม่พอใจและสร้างความขัดแย้งได้ หากเราเลี่ยงได้หรือไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่ควรนำมาเขียน เช่นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่มีคนเคารพนับถือเพราะมีการปลูกฝังแนวคิดกับคนกลุ่มหนึ่ง ถ้าเราไปบิดเบือนความเชื่อเหล่านั้นก็อาจจะไม่คุ้มกับความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น

การเลือกข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเขียน อาจจะเป็นเรื่องราวที่ไม่มีผลกระทบกับใคร เช่นเราหยิบเหตุการณ์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาส่งคนขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ หากเราเอามาเขียนเป็นเรื่องสั้นและบิดเบือนว่าความจริงแล้วประเทศสหรัฐอเมริกาล้วนโกหกคนทั้งโลก ดวงจันทร์ที่พวกเขาส่งคนไปเหยียบแท้จริงแล้วอยู่ในโรงถ่ายของฮอลลีวู๊ด และนักบินทั้งหมดถูกฆ่าปิดปากเพื่อเก็บความลับนั้นไว้ เราอาจจะประเมินแล้วว่าเรื่องแบบนี้ถ้าคนประเทศสหรัฐอเมริกามาอ่าน เขาจะไม่โกรธเราแน่ๆ เพราะคนทางโน้นล้วนใจกว้างเรื่องจิตนาการ เราก็เขียนได้เลยไม่ต้องเกรงใจใคร

หรือการเขียนเรื่องสั้นจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยที่ไม่มีการบิดเบือนนั้นก็ทำได้ เราอาจจะสร้างตัวละครสมมุติที่อยู่ในเหตุการณ์จริงแล้วเล่าเรื่องออกมาก็ดูน่าสนใจดี และเป็นการให้ความรู้สำหรับผู้ที่สนใจได้อีกด้วย

แนวคิดของบุคคลสำคัญ

บุคคลสำคัญคือผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่และได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ดังนั้นแนวคิดของเขาจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และบางครั้งมันก็อาจสร้างแนวคิดใหม่ๆให้กับผู้ที่อ่านเรื่องสั้นของเราได้ ตัวอย่างเช่นผู้นำในสังคมต้องการที่จะเลิกทาส เราอาจจะอธิบายถึงแรงจูงใจว่าทำไมเขาต้องการที่จะล้มเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับทาสลงไป เราอาจจะต้องทำการศึกษาก่อนว่าผู้นำคนนั้นคิดอย่างไรจริงๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อที่เราจะเขียนมันลงไปให้ถูกต้องหรือบิดเบือนมันแต่พอสมควร

การเลือกบุคคลสำคัญเพื่อที่จะศึกษาแนวคิดของเขานั้น ถ้าจะให้ดีก็ควรให้อยู่ในความสนใจของผู้ที่จะแต่งเรื่องสั้น เพื่อที่เราจะสามารถสร้างความสนใจเกี่ยวกับแนวคิดนั้นได้อย่างดีเยี่ยม หากเราสนใจในเรื่องการเมืองการปกครอง การเขียนเกี่ยวกับแนวคิดของนักปฏิวัติทางสังคมก็เป็นเรื่องที่น่าจะเหมาะสม เพราะบางทีเราอาจจะแทรกแนวคิดของเราเองลงไปด้วยก็ได้

แนวคิดของใครสักคน

ใครสักคนอาจหมายถึงตัวเราเอง เพื่อน เพื่อนของเพื่อน หรือใครก็ได้ที่เรารู้จัก บางทีเราอาจจะมีแนวคิดเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำและไม่เคยได้รับการแก้ไขสักที เราอาจใช้เรื่องนี้มาเป็นแรงผลักดันในการแต่งเรื่องสั้นของเราเพื่อที่จะสะท้อนถึงปัญหาเหล่านั้นออกมาให้ผู้ที่อ่านงานเขียนของเรา หรือมองดูคนรอบข้างเราว่าเขามีแนวคิดอะไรน่าสนใจบ้าง อาจจะเป็นแนวคิดเรื่องการใช้ชีวิต บางคนมุ่งสะสมเงินทองอย่างเดียวโดยที่ไม่เคยออกไปใช้มัน บางคนหาเงินแค่พอประทังชีวิตไปวันๆโดยไม่เคยคิดที่จะสะสมเงินทองไว้สักบาทเดียว บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตหมดไปกับสิ่งๆหนึ่ง

ทุกแนวคิดทุกการกระทำล้วนมีเหตุผลในตัวของมันเอง การนำเสนอแนวคิดเหล่านี้ให้ผู้อ่านงานเขียนได้ลองเปิดจินตนาการใหม่ก็เป็นเรื่องที่ดูน่าสนุกดี การรับรู้ถึงเหตุผลของคนอื่นๆที่ไม่ใช่ของตัวเรา ถ้าเราเข้าใจมันได้แล้วก็อาจจะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นเพราะความขัดแย้งจะลดลง เช่นเดียวกันหากเรานำเสนอให้ผู้อ่านลองพิจารณาดู พวกเขาก็จะทำให้สังคมดูดีขึ้นได้

ท้ายบท

เมื่อเราตัดสินใจได้แล้วว่าเราต้องการจะมอบความรู้สึกไหนให้กับผู้ที่อ่านงานเขียนของเรา อย่างน้อยเราก็มีธงในใจแล้วว่าจะก้าวเดินต่อไปในทิศทางไหน ในบทต่อไปเมื่อเราเริ่มเขียนเราก็พยายามเดินตามแนวทางที่เราได้คาดหวังไว้ นอกจากตัวอย่างความคาดหวังที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมา อาจจะมีความคาดหวังอื่นๆนอกเหนือจากนี้ที่เราจะสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ มันอาจจะเป็นจุดประสงค์แอบแฝงอะไรสักอย่าง เช่นการโฆษณา โน้มน้าวชักจูงหรือทำให้เชื่อตามแนวคิดที่เรายัดมันลงไปในเรื่องสั้น สามารถสร้างความต่อต้านในแนวคิดบางอย่างก็ได้ อนุภาพของเรื่องสั้นนั้นทรงพลังมากไม่มีที่สิ้นสุดแล้วแต่ว่าเราจะสามารถดึงพลังมันออกมาได้แค่ไหน

เมื่ออ่านมาถึงจุดผู้อ่านลองตั้งความคาดหวังที่จะมอบให้กับผู้อ่านงานของเรา ลองสำรวจดูว่าตัวเองชอบแนวไหน หากยังคิดอะไรไม่ออก ลองดูแบบฝึกหัดต่อไปนี้ อาจทำให้ผู้อ่านพอมองเห็นภาพถึงการสร้างความคาดหวัง

แบบฝึกหัด

ผู้อ่านลองจินตนาการว่าอะไรคือความสนุกของเรา มีเรื่องราวไหนที่จะสร้างความเพลิดเพลินให้กับตัวเราได้บ้าง อะไรที่เราคิดถึงแล้วรู้สึกสบายใจและไม่เบื่อมัน ลองคิดว่าเราจะมอบความสนุกเหล่านั้นออกไปให้ผู้อ่านงานเขียนของเรา

ลองคิดถึงอารมณ์ที่สุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นเศร้า ซาบซึ้ง ระทึกขวัญ สยองขวัญและโกรธ ลองคิดดูว่าในแต่ละอารมณ์ที่เรามีอย่างสุดขั้วนั้นจะสร้างความรู้สึกอย่างไรให้กับเราได้บ้าง หรืออาจลองคิดถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เราเศร้าใจสุดๆ หรืออะไรที่ทำให้เราระทึกขวัญสุดๆจนหัวใจแทบจะหยุดเต้น มีอะไรบ้างที่ทำให้เราแทบจะขนหัวลุก ลองดูว่าอารมณ์แบบไหนที่เราอยากถ่ายทอดมันออกมาในงานเขียนของเราบ้าง

บางครั้งเมื่อเรามีข้อมูลอะไรใหม่ๆแล้วอยากถ่ายทอดมันออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ โดยบอกสิ่งเหล่านั้นออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ด้วยการเขียนเรื่องสั้น ลองสำรวจตัวเองดูว่ามีอะไรบ้างที่อยากบอก

เราต้องเคยได้ยินเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาบ้าง

ความคิดเห็น