บทที่ 8 ตรวจสอบงานเขียน

การตรวจสอบหรือทบทวนงานเขียนของเรา เป็นการประเมินความพึงพอใจของผู้ที่แต่งงานเขียน ว่าพึงพอใจกับผลงานที่เราได้คาดหวังไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเขียนหรือไม่ เพราะว่าบางครั้งความคาดหวังที่เราตั้งไว้มีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนได้ในระหว่างการสร้างสรรค์ผลงาน การประเมินความพึงพอใจจึงเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องของคุณภาพงานเขียนที่เราจะสามารถรักษาระดับมาตรฐานไว้ ดังนั้นแล้วขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่จะบอกได้ว่าเราใส่ใจงานเขียนของเรามากน้อยเท่าไหร่

การตรวจสอบงานเขียนควรแยกออกไปเป็นประเด็นย่อย และควรตรวจสอบให้เสร็จทีละข้อ เพื่อให้แน่ใจว่าเราตรวจสอบในทุกส่วนได้ครบถ้วนแล้ว หัวข้อดังต่อไปนี้เป็นสิ่งที่นักเขียนควรพิจารณาเพื่อใช้ในการตรวจสอบและแก้ไข

คำผิด
โครงเรื่อง
บทสนทนา
คำอธิบายเหตุการณ์
คำบรรยายฉาก

คำผิด

เรื่องสั้นเป็นงานศิลปะที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือในการสร้างงาน เราใช้ตัวอักษรในการเรียงร้อยถ้อยคำให้ออกมาเป็นประโยคคำพูดเพื่ออธิบายถึงสิ่งที่เราต้องการจะบอกออกไปให้กับผู้อ่าน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะเขียนคำให้ถูกต้องตามแบบแผนที่ยึดถือกันมา เพราะแบบแผนนี้เป็นสิ่งที่คนที่ใช้ภาษาไทยเข้าใจร่วมกันเป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้นหากเราเขียนคำผิดไป อาจจะมากหรือน้อย นั่นก็อาจจะทำให้ผู้อ่านอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนกับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ หรือแม้ว่าผู้อ่านอาจจะเข้าใจในคำที่เราเขียนผิดเล็กๆน้อยๆ แต่นั่นก็อาจจะสร้างความรำคาญใจให้กับผู้อ่านงานเขียน และอาจจะทำให้เราในฐานะผู้แต่งดูไม่เป็นมืออาชีพเท่าที่ควร

โชคดีที่ทุกวันนี้มีเครื่องมือในการตรวจสอบคำผิด โดยส่วนใหญ่เรามักจะเขียนงานบนคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว และในโปรแกรม Text editor ก็มักจะเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบคำผิดมาให้เราด้วย นั่นจึงเป็นตัวช่วยอย่างดีในการตรวจสอบคำที่สะกดผิดรูปแบบได้ แต่ว่าการใช้เครื่องมือนี้ตรวจสอบคำผิดก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ครบถ้วนสมบูรณ์เสมอไป บางครั้งคำที่สะกดถูกรูปแบบแต่เขียนสะกดต่างกันต่างความหมายก็มีมาก เช่นคำว่า สุก-สุข, พลาด-พาด, น่า-หน้า ฯลฯ คำที่เขียนคล้ายๆกันแต่ความหมายต่างกันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มักจะเขียนผิดกันได้ จึงมีความจำเป็นที่เราจะอ่านทบทวนด้วยตัวเองซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะแน่ใจ และการอ่านซ้ำไปซ้ำมานี้ยังจะช่วยเราตรวจสอบหัวข้อต่อๆไปด้วย

โครงเรื่อง

มีความเป็นไปได้ที่โครงเรื่องที่เราสร้างเอาไว้ก่อนหน้านี้จะบิดเบี้ยวเข้ารกเข้าพงไปเมื่องานเขียนออกมาเสร็จสมบูรณ์ จนบางครั้งอาจจะไม่เหลือเค้าโครงเดิมที่เราร่างเอาไว้ในตอนเริ่มต้น หากว่าเรากลับมาอ่านงานของเราและเราพบว่าเค้าโครงของเรื่องมันผิดเพี้ยนไปจนหมดสิ้นหรือผิดเพี้ยนไปบ้างนิดหน่อย เราต้องตัดสินใจเลือกว่าเราต้องการแบบไหน หากโครงเรื่องแบบใหม่เรายอมรับมันได้ก็ไม่อาจจะไม่ต้องแก้อะไรในส่วนนี้ แต่ถ้าหากว่าเรายังต้องการที่จะคงไว้ซึ่งโครงเรื่องเริ่มแรกที่เราคิดไว้ เช่นหากเราจะเขียนเรื่องสั้นที่เล่าถึงประเด็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริง แต่ในระหว่างที่เริ่มเขียนเรามีความคิดใหม่เพิ่มเข้ามาจนทำให้โครงเรื่องผิดเพี้ยนจนไม่สามารถอธิบายประเด็นเรื่องปัญหาสังคมที่เราต้องการจะสื่อ หากเป็นเช่นนี้เราก็คงต้องกลับไปแก้ไขงานเขียนของเรา

บทสนทนา

บทสนทนาคือการเขียนประโยคคำพูดที่ออกมาจากตัวละคร การใช้ภาษาพูดในงานเขียนบางทีอาจจะทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง หรือดูไม่สวยงามเท่าไหร่ เวลาที่คนเราใช้หูฟังจะตีความประโยคที่ได้ยินรวดเร็วกว่าประโยคที่อ่านด้วยตา ดังนั้นหากเป็นประโยคเหมือนกันแต่ถ้าแปลภาษาโดยใช้หูจะเข้าใจได้ง่ายกว่าอ่านจากประโยคที่ใช้ตัวอักษรเขียน ตัวอย่างเช่นประโยคคำพูดที่ว่า "กินไรยัง" มันย่อมาจากคำว่า "กินอะไรหรือยัง" แต่ถ้าเราได้ยินคำว่า "กินไรยัง" เรามักจะเข้าใจได้ทันทีที่ได้ยิน แต่ลองจินตนาการว่าหากคำนี้ถูกเขียนออกแล้วเราอ่านมัน เราจะไม่คุ้นเคยและเข้าใจมันได้ทันที อาจจะทำให้ผู้ที่อ่านเรื่องสั้นของเราหงุดหงิดได้หากเจอคำเหล่านี้ในงานเขียน

อีกประเด็นที่เราต้องพิจารณาตรวจสอบเกี่ยวกับบทสนทนาคือ บทสนทนาเหล่านั้นจะสื่อถึงสิ่งที่ตัวละครต้องการแสดงออกมาได้หรือไม่ หรือว่ามันจะสื่อถึงเรื่องราวที่เราต้องการจะเล่าได้มากน้อยเพียงใด วิธีการตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยการอ่านมันโดยคำนึงว่าในฐานะผู้อ่านเรื่องสั้นที่ยังไม่รู้เรื่องราวจะสามารถเข้าใจมันได้อย่างง่ายดายหรือเปล่า แน่นอนว่าเราในฐานะผู้แต่งเรื่องสั้นย่อมมีความเข้าใจในประเด็นเรื่องสั้นได้ดีกว่าอยู่แล้ว นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องใส่ใจให้มาก

คำอธิบายเหตุการณ์

เช่นเดียวกันกับบทสนทนา ในเรื่องของภาษานั้นเราต้องพิถีพิถันกลั่นกรองคำให้ออกมาในภาษาเขียน ความสวยงามของภาษาจะเพิ่มความสวยงามให้กับเรื่องสั้นของเรา และต้องอธิบายความคิดของเราให้ออกมาอย่างชัดเจนด้วย เหตุการณ์ต่างๆที่เราได้จินตนาการไว้ในหัวสมอง มันจะถูกถ่ายทอดออกมาโดยตัวอักษร เราต้องอ่านซำ้ไปซ้ำมาเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่อ่านงานเขียนจะเข้าใจในสิ่งที่เราเขียน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องราวดำเนินต่อไปได้จนจบ

ความคิดเห็น