บทที่ 5 การเขียนเปิดเรื่อง

ในการเขียนบทความอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีย่อหน้าที่เป็นคำนำหรือเกริ่นเรื่อง ย่อหน้าเหล่านี้คือจะบอกกับผู้อ่านบทความว่าเขากำลังจะอ่านเรื่องอะไร มีอะไรในบทความนี้บ้างที่น่าสนใจ และผู้ที่อ่านสามารถสร้างความคาดหวังอะไรจากการอ่านบทความชิ้นนี้ การเขียนเปิดเรื่องมีส่วนสำคัญมากที่จะตัดสินว่าผู้ที่อ่านเรื่องสั้นจะเปิดอ่านเรื่องสั้นของเราต่อไป หรือจะเปิดผ่านไปเรื่องสั้นเรื่องถัดไป มันอาจจะเป็นประตูด่านที่ 3 ที่ผู้อ่านของเราจะเปิดเข้ามา และเขาจะตัดสินใจว่าจะเปิดประตูบานถัดไปหรือเปล่า ประตูบานแรกอาจจะเป็นชื่อเสียงของผู้แต่งเรื่องสั้น หากผู้แต่งมีชื่อเสียงอยู่ก่อนแล้ว ก็จะทำให้ฐานนักอ่านของผู้แต่งให้ความสนใจ และประตูบานที่ 2 ก็จะเป็นชื่อของเรื่องสั้น ซึ่งจะมีการพูดถึงในลำดับถัดไป

หากว่าสิ่งที่คุณเขียนนั้นคือบทความทางวิชาการ ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง เมื่อมาถึงขั้นตอนการเขียนคำนำหรือเกริ่นนำ เราก็แค่เขียนอธิบายว่าเรากำลังจะพูดถึงเรื่องอะไร ทำไมเราต้องมาพูดเรื่องนี้กันซึ่งมันมีรูปแบบที่ตายตัวชัดเจน และการเขียนเปิดเรื่องสั้นมันก็มีรูปแบบเหมือนกัน แต่มันไม่ตายตัวและมีรูปแบบที่หลากหลายมากมายไม่สามารถที่จะเอารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาใช้ซำ้ๆกันได้ สิ่งที่การเขียนเปิดเรื่องต้องมีเพื่อดึงดูดให้ผู้ที่อ่านงานตัดสินใจที่อ่านงานเขียนต่อไปมีดังนี้
  • สามารถบอกได้ลางๆว่าประเด็นของเรื่องสั้นนั้นต้องการพูดถึงเรื่องอะไร
  • สร้างความสงสัยให้ผู้อ่าน
  • ใช้ถ้อยคำและประโยคคำพูดหรือการบรรยายเหตุการณ์ที่น่าสนใจ
  • เขียนให้สะเทือนอารมณ์ผู้อ่านให้มากที่สุด
และแนวทางอีกข้อของการเขียนเปิดเรื่อง คือการเขียนให้สั้นและกระชับที่สุด เพื่อให้เกิดแรงดึงดูดนักอ่านให้เร็วที่สุด เพราะหากการเขียนเปิดเรื่องสั้นยาวและเยิ่นเย้อ นักอ่านของเราอาจจะเบื่อมันไปเสียก่อนที่จะอ่านจบแม้แค่การเปิดเรื่อง

สามารถบอกได้ลางๆว่าประเด็นที่เราต้องการพูดถึงคืออะไร

บางครั้งเรามีความคิดหรือประเด็นอะไรที่เราต้องการนำเสนอผ่านเรื่องสั้น และเรากำหนดกลุ่มเป้าหมายของผู้อ่านเรื่องสั้นของเราแล้ว การจะทำให้ผู้อ่านที่มีความสนใจในประเด็นของเราที่เราต้องการนำเสนอ โดยทำให้การเขียนเปิดเรื่องสามารถทำให้ผู้อ่านรู้ว่าเรื่องสั้นของเราเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการจะอ่าน ตัวอย่างเช่นหากเราต้องการที่จะพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับระบบทุนนิยมที่คืบคลานเข้ามาจากต่างประเทศ มีวิธีมากที่จะทำให้ผู้อ่านรู้ว่าเรากำลังจะเขียนเรื่องทุนนิยม

การเปิดเรื่องโดยบรรยายถึงบทสรุปขึ้นมาก่อนก็เป็นกลวิธีหนึ่งในการเขียนเรื่องสั้น เมื่อผู้อ่านรู้ถึงบทสรุปแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ เป็นการผูกเรื่องแบบผลมาหาเหตุ คือเราบอกไปเลยว่าผลลัพธ์มันเป็นอย่างไร แล้วค่อยมาเล่าถึงสาเหตุ นี่คือตัวอย่างวิธีการเขียนเปิดเรื่องที่ผู้เขียนยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้ที่อ่านเปิดหัวมาแล้วพอจะเข้าใจได้ว่านี่เป็นเรื่องทุนนิยมจากต่างแดน
ยายวิลัยนั่งเฝ้ามองผู้คนที่เดินขวั่กไขว่ไปมาบนท้องถนนที่ร้อนระอุด้วยเปลวแดดแรง เธอนั่งอยู่หลังโต๊ะไม้เก่าๆในร้านขายของชำของเธอเอง ในร้านของยายวิลัยนั้นไม่มีสินค้ามากนัก มีเพียงแค่ขนมลูกอมและน้ำหวานในตู้แช่ที่ไม่ค่อยจะเย็นเพราะมันเริ่มจะเก่าและผุพัง บวกกับอุณหภูมิจากภายนอกที่สูงเกินกว่าที่คอมเพรสเซอร์ที่ใกล้หมดอายุแล้วจะสู้แรงได้ เพราะเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนต่างพร้อมใจกันไม่มาซื้อของที่ร้านของยายวิลัย แต่นั่นมันไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้ร้านของชำร้านนี้ขาดผู้มาเยือน แต่เป็นเพราะห้องแถวที่เยื้องร้านของเธอไปไม่กี่ห้องเพิ่งจะมาเปิดเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีแอร์เย็นฉ่ำไว้คอยบริการเมื่อไม่กี่อาทิตย์มานี้ ยายวิลัยจึงไม่แปลกใจเลยที่ร้านเธอไม่มีใครแวะมาเลย ยายนั่งคิดถึงเหตุการณ์เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาที่ทำให้มีร้านสะดวกซื้อนี้มาเปิดใกล้ร้านของเธอได้
เมื่อผู้อ่านได้อ่านการเปิดเรื่องจากตัวอย่างข้างบนแล้ว พวกเขาจะรู้ทันทีเลยว่ายายวิลัยถูกกระแสทุนนิยมพัดพาให้ออกจากฝั่ง (หมายถึงออกจากตลาดร้านขายปลีก) แต่บันทัดสุดท้ายของการเขียนเปิดเรื่องได้โยงไว้แล้วว่ามันมีเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่ทำให้มีร้านสะดวกซื้อมาเปิด ซึ่งทำให้ยายวิลัยไม่ลืมไปจนวันตาย หรือบางทีถ้าเราไม่เขียนเปิดเรื่องแบบผลไปหาเหตุ เราอาจเขียนแบบเหตุไปหาผลก็ได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ขบวนของผู้สมัครลงชิงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นเดินแจกใบปลิว โดยมีผู้สมัครยกมือไหว้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ขบวนมาหยุดลงที่หน้าร้านขายของชำของยายวิลัย ผู้สมัครยกมือไหว้ป้าแกอีกครั้งก่อนจะพรรณนาถึงการพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญยิ่งขึ้น จะมีการลงทุนจากนายทุนเข้ามาและจะมีการจ้างงานผู้คนในหมู่บ้าน ผู้สมัครอยากให้ป้าวิลัยไปบอกกับลูกหลานและคนรู้จักให้ช่วยลงคะแนนให้ตัวเอง เพื่อที่เขาจะได้ทำตามคำโฆษณาที่เคยได้พูดไว้
จากตัวอย่างทั้ง 2 นั้น เป็นการสะท้อนถึงผลกระทบจากระบบทุนนิยมในอีกมุมมองหนึ่งของชาวบ้านที่ถูกแย่งอาชีพ เราสามารถเอาประเด็นนี้มาขยายต่อไปได้ในการเขียนช่วงดำเนินเรื่องได้อย่างสะดวก เพราะเราได้เปิดหัวเรื่องไว้อย่างดีแล้ว จึงทำให้ผู้อ่านเรื่องสั้นเข้าใจในประเด็นที่ต้องการสื่อ หากเป็นเรื่องสั้นแนวรักๆใคร่ๆนี่ก็ยิ่งง่านเลย เราอาจเขียนเปิดเรื่องจากพระเอกนางเอกที่บรรยายความรู้สึกตัวเอง หรืออาจจะแค่เขียนบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเป็นไปได้ให้ทั้งคู่มาเจอกันในสถานการณ์อะไรสักอย่าง

สร้างความสงสัยให้ผู้อ่าน

การทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยเมื่ออ่านการเขียนเปิดเรื่องสั้นผ่านไป หากผู้อ่านเรื่องสั้นเข้าใจในประเด็นของปมที่เราผูกอย่างชัดแจ้ง และทำมันให้เขาอยากรู้ว่าปมปัญหานั้นจะคลายออกมาอย่างไร นั่นถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วในการชักจูงผู้อ่านเรื่องสั้นให้อ่านเรื่องสั้นของเราต่อไป

ความจริงแล้วการสร้างความสงสัยในการเปิดเรื่องสามารถนำไปใช้ได้กับเรื่องสั้นทุกแนว โดยที่เรื่องสั้นแนวหักมุมนั้นจำเป็นที่จะต้องให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยอย่างแน่นอนอยู่แล้ว บางทีเรื่องสั้นแนวหักมุมอาจจะไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดความสงสัยตั้งแต่การเปิดเรื่องก็ได้ ผู้เขียนเรื่องสั้นอาจจะสร้างความสงสัยที่กลางเรื่องหรือท้ายเรื่องก็สามารถทำได้ แต่การเปิดเรื่องโดยทิ้งคำถามให้กับผู้อ่านเรื่องสั้นเอาไปขบคิดก่อนที่จะอ่านต่อ นั่นจะยิ่งเพิ่มแรงดึงดูดให้นักอ่านไม่อยากที่จะวางหนังสือไปแม้เพียงวินาทีเดียว

ในการเขียนเรื่องสั้นแนวหักมุม เราจำเป็นต้องคิดเค้าโครงเรื่องและจุดหักมุมให้พร้อมก่อนที่จะเริ่มเขียน เมื่อเรามีเค้าโครงร่างที่สมบูรณ์แล้ว จึงสามารถวางแผนว่าเราควรจะเขียนเปิดเรื่องอย่างไร ขั้นแรกคืออย่าบอกทั้งหมดในการเปิดเรื่อง บอกเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ผู้อ่านเรื่องสั้นนำไปคิดต่อได้ และสิ่งที่บอกไว้ต้องเชื่อมโยงกับเค้าโครงเรื่องด้วย

ตำรวจในชุดผ้ากันฝนกำลังเฝ้ายืนดูเจ้าหน้าที่กู้ภัยเก็บศพของหญิงสาวที่พลัดหล่นลงมาจากตึกสูง 10 ชั้นท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักและลมกระโชกแรง ในขณะที่ตำรวจอีกกลุ่มหนึงรีบขึ้นไปดูยังที่เกิดเหตุโดยมีคนดูแลตึกนำพาขึ้นไปยังห้องของเธอ 
คนดูแลตึกที่คุ้นเคยกับผู้ตายบอกกับตำรวจว่าช่วงก่อนหน้านี้เธอพักอาศัยอยู่คนเดียวที่ตึกนี้ โดยจะมีแฟนหนุ่มแวะเวียนมาบ้างเป็นครั้งคราว แต่วันนี้ไม่มีพยานที่จะสามารถบอกได้ว่าก่อนหน้านี้ผู้ตายอยู่กับใครหรือเธอจะอยู่คนเดียวปรากฎว่ามีการล 
เมื่อตำรวจเดินขึ้นไปยังห้องผู้ตาย ประตูหน้าห้องไม่ได้ล็อคกลอน แต่ประตูทีออกไปทางระเบียงกลับโดนล็อคลูกบิดจากด้านใน ที่ราวระเบียงมีเก้าอี้ทีตายใช้ปีนขึ้นไปก่อนที่จะกระโดดลงมา

ในการเปิดเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านสงสัยผู้เขียนเรื่องสั้นต้องสร้างทางเลือกไว้ให้คนอ่านสามารถที่จะจินตนาการต่อไปได้หลายทาง และที่สำคัญคืออย่าหลงทางเอง เราต้องมุ่งประเด็นจากจุดเริ่มต้นถึงจุดสุดท้ายไม่ให้หลงทางออกทะเลไปไหนได้ แต่เราแค่พยายามสร้างทางเลือกทางความคิดให้กับนักอ่านของเราแค่นั้นเอง

ในงานวรรณกรรมประเภทนิยายเกี่ยวกับเรื่องรักๆใคร่ๆ ส่วนใหญ่แล้วพระเอกและนางเอกมักจะสมปราถนาเมื่อตอนจบเรื่อง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสั้น สำหรับเรื่องสั้นแล้วไม่จำเป็นต้องให้พระเอกกับนางเอกสมหวังเสมอไปเหมือนนิยายรักที่การจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งดูเหมือนจะกลายเป็นขนบไปแล้ว โปรดจำไว้ว่าเนื้อเรื่องยิ่งสั้นยิ่งต้องเพิ่มทางเลือกให้มาก เพื่อจะทำให้เรื่องสั้นของเราโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกับใครมากจนเกินไป หากเราต้องการเขียนเปิดเรื่องสั้นแนวรักๆใคร่ๆและต้องการทำให้นักอ่านเกิดความสงสัยเพื่อที่จะอยากอ่านต่อไป เราอาจเพิ่มทางเลือกว่าเขาและเธอนั้นสุดท้ายแล้วจะได้คบกันอยู่หรือเปล่า พระเอกจะเกลียดนางเอกไปเลยหรือไม่หรือจะยังเข้าอกเข้าใจกันอยู่ ระหว่างนางเอกกับมือที่สามแล้วสรุปพระเอกจะเลือกใคร

ใช้ถ้อยคำและประโยคคำพูดหรือการบรรยายเหตุการณ์ที่น่าสนใจ

ภาษาไทยเป็นภาษาที่สวยงาม และความสวยงามของมันจะทวีคูณยิ่งขึ้นไปตามความสามารถของคนที่จะแต่งแต้มมัน มีประเภทของงานวรรณกรรมมากมายที่เน้นความสวยงามของการเรียงร้อยถ้อยคำ ตัวอย่างเช่นกลอน กาพย์ ฉันท์ โคลง การแต่งกลอนเพื่อใช้สำหรับเปิดเรื่องนั้นก็ดูน่าสนใจ เพราะการเขียนกลอนถึงแม้จะสั้นแต่มันก็ทรงพลัง กลอนที่ถูกบรรจงแต่งมาอย่างดีแล้ว หากมีสัมผัสนอกและสัมผัสใน มีครุและลหุหรือความหนักเบาของวรรณยุกต์ตามแบบแผนที่เคยมีมา เมื่อใส่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องของเราลงไป นั่นก็มีโอกาสที่จะทำให้การเขียนเปิดเรื่องของเราดึงดูดผู้อ่านให้พลิกหน้าถัดไปของเรื่องสั้นของเรา แทนที่จะพลิกไปยังเรื่องสั้นเรื่องถัดไปหรือวางหนังสือลงเสียก่อน
แสงไฟขาว พราวแสง แยงส่องหน้า
ฉายดวงตา นารี มีเบอร์ติด
มีหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ ยืนครุ่นคิด
หวังพิชิต นาน้อย ร้อยราคี
ใบหน้าขาว ปากแดง แก้มชมพู
อยู่ในตู้ นั่งคอย มาแรมปี
ขอทีเถิด โอกาส ในชาตินี้
หวังขอมี ความสุข นอกกรงทอง
เนื้อเรื่องที่เราต้องการพูดถึงการพยายามที่จะเลิกอาชีพของสาวบริการในตู้กระจก แม้ที่นั่นจะทำให้เธอมีเงินใช้สุขสะบายทางกาย แต่ในใจลึกๆแล้วเธอเป็นเหมือนยิ่งกว่าทาส เพราะต้องคอยเอาใจทั้งเจ้านายและลูกค้าของเธอตามแต่ที่พวกเขาจะสั่ง

จากตัวอย่างข้างบนนั้นเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการเขียนเปิดเรื่อง เป็นการเปิดเรื่องโดยใช้ร้อยกรองเพิ่มความน่าสนใจให้กับเรื่องสั้น และเราก็สามารถใช้ร้อยแก้วในการเขียนก็ได้ ร้อยแก้วก็คือการเขียนพรรณนาทั่วไปไม่ต้องมีการแบ่งสัมผัสอะไรให้ยุ่งยาก แต่การเขียนคำพรรณาทั่วไปให้ดูน่าสนใจนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยุ่งเหยิงกว่าการเขียนร้อยกรอง แต่มันก็ทำได้

การเขียนร้อยแก้วให้ดูน่าสนใจเราอาจจะต้องใช้คำบรรยายที่แตกต่างจากสิ่งที่คนทั่วไปคุ้นชิ้น อาจจะมีลูกเล่นและวิธีการเล่าที่ไม่เหมือนใคร แต่มันจะต้องคงเนื้อหาเดิมไว้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ไม่อย่างนั้นการใช้ลูกเล่นในการเขียนอาจจะกลายมาเป็นตัวทำลายงานเขียนของเราเองก็ได้
สุรชัยตื่นนอนมาตอนเช้า เขาพบว่า 'อุสา' ภรรยาของเขาลุกขึ้นจากที่นอนไปก่อนหน้านี้แล้ว เขาลุกขึ้นจากเตียงและเปิดประตูห้องนอนก่อนจะเดินลงบันไดไป สุรชัยคิดว่าภรรยาของเขาคงจะลงไปเตรียมอาหารในห้องครัวแล้ว เขามองไปที่โต๊ะอาหารแต่ยังไม่มีจานอะไรมาวางไว้เลยสักใบ เขาคิดว่าบางทีอาหารกำลังถูกปรุงอยู่ในครัวโดยภรรยาของเขา สุรชัยเดินเข้าไปในห้องครัวแต่เขาไม่เห็นภรรยาของเขา สุรชัยจึงคิดว่าบางที 'อุสา' อาจจะยังไม่กลับจากตลาดเพื่อหาซื้อวัตถุดิบ เขาเดินไปนั่งรอยังชุดโซฟายาวพลางเปิดทีวีดู เวลาผ่านไปนานมากแล้วแต่ไม่มีวี่แววภรรยาของสุรชัย เขาเป็นกังวลใจอยากมากว่ามันเกิดอะไรขึ้น
นี่คือตัวอย่างการเขียนร้อยแก้วที่พรรณถึงความสับสนงุนงงของตัวเอกในเรื่องสั้นของเรา แต่เราสามารถเพิ่มความแปลกใหม่ลงไปในงานเขียนของเราได้
สุรชัยไม่เห็นภรรยาของเขาในห้องครัว ทั้งๆที่เขาจำได้ว่าทุกวันที่เขาตื่นมาถ้าเขาไม่เจอเธอบนเตียง ก็มักจะเจอเธอในห้องครัวซึ่งกำลังทำอาหารเช้า มาถึงตอนนี้ยังไม่ทำให้สุรชัยว้าวุ่นใจสักเท่าไหร่ เขาแค่คิดว่าเธออาจจะไปหาซื้อวัตถุดิบเพิ่มจากตลาด หรือออกไปซื้อเครื่องปรุงจากร้านของชำใกล้ๆบ้าน สุรชัยพยายามขจัดความกังวลในจิตใจด้วยการเปิดทีวีดู แต่จนแล้วจนรอดภรรยาของสุรชัยก็ยังไม่กลับมาถึงบ้านสักที นั่นยิ่งเพิ่มความกังวลใจให้ทวีคูณตามระยะเวลาที่ค่อยๆไหลผ่านเลยไป
ตัวอย่างของการเพิ่มลูกเล่นเข้าไปในการเขียนเปิดเรื่อง จะมีการเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เล่าสลับไปมาบ้าง จากตัวย่างก่อนหน้าจะเป็นการอธิบายเหตุการณ์แบบเรียงลำดับ ตัวอย่างถัดมาจะเป็นการเริ่มต้นที่จุดๆหนึ่ง โดยนึกย้อนไปเหตุการณ์ในอดีต และการใช้วิธีการพูดที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม

การใช้คำพูดที่สละสลวยก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ และการสร้างเนื้อหาเหตุการณ์ให้น่าติดตามและดึงดูดความสนใจก็เป็นวิธีที่ดี หลักการของการสร้างเหตุการณ์ให้น่าสนใจก็คล้ายกับการใช้ถ้อยคำ มันจะต้องเป็นเหตุการณ์ที่แปลกๆใหม่ ไม่คุ้นชินกับคนทั่วไปที่จะพบเจอ ลองดูตัวอย่างเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
วันนี้สมชายลืมกระเป๋าเครื่องมือที่มักจะหยิบมาเก็บไว้ใต้เบาะจักรยานเสือหมอบคู่ใจของเขา หากเป็นวันอื่นๆที่เขาลืมกระเป๋าเครื่องมือก็คงไม่สร้างความหงุดหงิดให้เขาเช่นนี้ เนื่องจากตอนนี้ล้อจักรยานของเขาแตกจากการเหยียบใส่เศษหินที่แหลมคม และมันน่าหงุดหงิดใจยิ่งขึ้นเพราะจุดเกิดเหตุนั้นเป็นกลางป่าที่ไม่มีรถขับผ่านสักเท่าไหร่
รถเมล์คันแล้วคันเล่าขับผ่านป้ายรถเมล์ ผู้หลากหลายเดินขึ้นลงรถเมล์สายประจำของพวกเขากันเป็นปกติ แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือรถเมล์สายที่สมฤดียืนรออยู่นั้นไม่ยอมมาสักที เธอยืนรอมาเป็นชั่วโมงแล้วแต่ก็ไม่มีวี่แววของสายรถเมล์ที่เธอรอ ยังถือว่าโชคดีที่วันนี้เธอเผื่อเวลาออกจากบ้านก่อนเวลานัดหมายสอบสัมภาษณ์เข้าทำงานกว่าชั่วโมง แต่เวลาที่เหลือไม่เพียงพอให้เธอยืนรอได้อีกต่อไป ต้องหาทางเลือกการเดินทางวิธีอื่น
เรวดีถึงกับหน้าถอดสี เมื่อพบว่าในลิ้นชักเครื่องคิดเงินในร้านสะดวกซื้อที่เธอทำงานอยู่ ซึ่งควรจะมีจำนวนเงินจำนวนมากที่เป็นยอดขายก่อนหน้านี้วางเรียงกับตามจำนวนมูลค่าของแต่ละธนบัตร แต่ตอนนี้ไม่ปรากฏธนบัตรใดๆวางอยู่ในลิ้นชักที่เธอกำลังจ้องมอง เธอคิดถึงพนักงานก่อนหน้านี้ที่เพิ่งจะออกเวร เรวดีที่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน เขาคนนั้นเป็นใครมาจากไหนไม่รู้ เธอรู้เพียงว่าพนักงานคนนั้นต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายไปของเงินจำนวนมากนั้นอย่างแน่นอน
การเลือกใช้ถ้อยคำที่สวยหรูหรือสละสลวยเพื่อเพิ่มความน่าสนใจในงานเขียน แต่ผู้อ่านต้องระลึกไว้เสมอว่าหากสิ่งเหล่านี้มันมีมากเกินไปก็ไม่ดี การใช้คำที่ดูเป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากคำพูดที่คุ้นเคย มันอาจจะอ่านและเข้าใจยากสำหรับนักอ่านของเราก็เป็นได้ เป็นหน้าที่ของผู้เขียนเองที่จะเลือกใช้ปริมาณของการใช้คำที่อาจจะดูซับซ้อนให้เหมาะสมกับนักอ่าน เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์หากมันซับซ้อนเกินไป ก็มีความเป็นไปได้ที่นักอ่านจะติดตามเนื้อเรื่องไม่ทัน

เขียนให้สะเทือนอารมณ์ผู้อ่านให้มากที่สุด

ในงานเขียนหากงานชิ้นนั้นไปสะกิดต่อมอารมณ์ของนักอ่าน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เศร้า สนุก ตื่นเต้น สยองขวัญหรือหดหู่ นักอ่านที่มีรสนิยมตรงกับอารมณ์ในเรื่องสั้นของเราก็มีแนวโน้มที่จะอ่านงานของเราต่อไปจดจบ ในขั้นแรกนั้นเราต้องวางแผนก่อนว่าเราอยากให้อารมณ์ของเรื่องสั้นของเราเป็นแนวไหน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเรื่องสั้นแนวสยองขวัญ

หากเราตั้งโจทย์ไว้ว่าเราอยากให้นักอ่านของเราเกิดอาการสยองขวัญสั่นประสาทไปเลย และหลังจากที่เราสร้างเค้าโครงเรื่องไว้แล้วทั้งหมด จากนั้นพอถึงขั้นตอนลงมือเขียน เราอยากจะนำเสนอการเปิดเรื่องที่แค่เริ่มต้นก็ยังสร้างความน่าสะพรึงให้กับนักอ่าน ก่อนที่จะเริ่มงานเขียนอะไรทั้งหมด ผู้อ่านต้องเข้าใจความหมายและคำนิยามของอารมณ์ที่เราอยากจะเล่นเสียก่อน

เรื่องสั้นแนวสยองขวัญ คือเรื่องสั้นที่ถูกวางเค้าโครงและถูกเขียนขึ้นมาโดยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตื่นตระหนก ความหวาดกลัว สร้างความรู้สึกขวัญผวาให้กับผู้อ่าน แต่บางทีก็สร้างความบันเทิงพร้อมกันไปด้วย เรื่องสั้นแนวสยองขวัญสามารถสร้างประสบการณ์อันน่าหวาดหวั่นได้ โดยเข้าไปสัมผัสกับความกลัวในส่วนลึกของจิตใจผู้อ่าน ทั้งจากฝันร้าย บาดแผลทางจิตใจ ความแปลกแยก ความรู้สึกไม่พอใจ ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงในสิ่งที่ไม่รู้ ความกลัวตายและการสูญเสียอวัยวะ ความกลัวการสูญเสียตัวตน รวมทั้งความกลัวเกี่ยวกับเพศสภาพ แล้วนำมันออกมาถ่ายทอดเป็นประสบการณ์ที่แปลกประหลาด

นี่คือนิยามที่เราสามารถกลั่นกรองในอารมณ์ที่เราอยากถ่ายทอด โปรดจำไว้ว่ายิ่งเราเข้าใจอารมณ์นั้นและนิยามมันออกมาได้ละเอียดเท่าไหร่ เราจะยิ่งถ่ายทอดมันออกมาได้ดีเท่านั้น ต่อไปคือตัวอย่างการเขียนเปิดเรื่องที่เน้นการสร้างอารมณ์ที่น่าสะพรึงกลัวกับนักอ่าน
แสงไฟสีแดงจากรถของตำรวจแข่งกันสาดส่องไปทั่วท้องถนน จุดเกิดเหตุคือริมถนนในเมืองที่คับคั่งไปดัวยผู้คน แต่ตอนนี้พื้นที่ถูกปิดไว้โดยตำรวจหลายนาย แม้พื้นที่บริเวณนี้จะถูกปิดแต่ก็ยังมีกลุ่มคนนับร้อยมุงดูสภาพศพของเด็กหญิง ที่ร่างกายของเธอตอนนี้เละจนยากที่จะบอกได้ว่านี่คือร่างกายของมนุษย์ ชุดเจ้าหน้าที่เก็บกู้ซากชิ้นส่วนของศพยังมาไม่ถึง รวมถึงความน่าสะอิดสะเอียนของก้อนเนื้อที่แหลกเหลวจนทำให้ไม่มีตำรวจสักนายที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ปล่อยให้ความสยดสยองนี้ผ่านสายตาของผู้คนที่อยากรู้อยากเห็น จนบางคนที่มองแล้วถึงกับเป็นลมล้มพับไป หรือบางคนถึงกับอาเจียนออกมาเลยก็มี
ความน่าสยดสยองของซากศพนี้ น่าจะเป็นความตั้งใจของฆาตกรเพราะเคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้วในเมืองนี้ และทุกครั้งฆาตรกรทิ้งศพไว้สภาพแบบนี้ เหมือนเขาต้องการสำเร็จความใคร่อะไรสักอย่าง
หากเป็นอารมณ์อื่นๆก็เช่นเดียวกัน เราต้องเข้าใจและอาจจะต้องเข้าถึงอารมณ์นั้นได้เป็นอย่างดี ผู้อ่านเคยสังเกตหรือไม่ว่าทำไมงานวรรณกรรมแนวรักๆใคร่ๆถึงมีวางขายเกลื่อนเมือง เพราะว่าผู้คนส่วนใหญ่มักเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความรักมาแล้วทั้งดีและไม่ดี นักแต่งงานวรรณกรรมที่เข้าถึงอารมณ์แห่งความรักจึงมีมากมาย และนักอ่านที่พร้อมจะมีอารมณ์ร่วมกับความรักที่แต่งแต้มขึ้นจากนักเขียนก็มีล้นบ้านล้นเมือง ดังนั้นแล้วการเลือกอารมณ์ของงานเขียนอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการตลาดด้วยส่วนหนึ่ง แต่เหตุผลหลักที่นักเขียนผู้หนึ่งจะถนัดเขียนงานตามอารมณ์ของผู้อ่าน ก็น่าจะมาจากตัวตนที่แท้จริงเองของนักเขียนจะดีกว่า เพื่อให้กลิ่นอายและอารมณ์ที่เราถ่ายทอดมันออกไปสู่นักอ่าน เป็นไปอย่างสมจริงและมีอรรถรสมากที่สุด

ความคิดเห็น