บทที่ 6 การเขียนเนื้อเรื่อง

เรื่องราวเค้าโครงหนึ่งเรื่อง มีวิธีที่จะถ่ายทอดมันออกมาได้หลายร้อยพันวิธีการ และในแต่ละวิธีการก็มีความน่าสนใจที่แตกต่างกันไป ก็เหมือนกับที่เรามองดูท้องทะเลที่กว้างใหญ่ แม้มันจะเป็นท้องทะเลแห่งเดียวกัน แต่เพียงแค่เรายืนตรงจุดที่ต่างกันไม่กี่ก้าวและมองดูมันใหม่ มุมมองต่างๆและรายละเอียดของท้องทะเลก็จะดูแตกต่างกันแล้ว นั่นหมายความว่าเราในฐานะผู้ที่จะพรรณนาถึงท้องทะเล เราจะถ่ายทอดมันออกมาอย่างไรในมุมไหน และเราจะดึงความน่าสนใจของทะเลออกมาได้อย่างไรให้น่าสนใจที่สุด

มีวิธีหลายร้อยพันวิธีที่จะใช้เขียนเล่าเรื่องให้ดูน่าสนใจและมีเอกลักษณ์ เหมือนกับเทคนิคการวาดภาพที่มีหลากหลายแนวทั้งเรียลลิสติก แนวแอบสแตรก หรือจะวาดภาพด้วยดินสอ ใช้สีน้ำ สีน้ำมัน เมื่อภาพของทะเลถูกวาดด้วยเทคนิคที่ต่างกัน ทะเลที่อยู่ในแต่ละภาพวาดจึงให้อารมณ์และความรู้สึกที่ต่างกัน

จากที่อธิบายไปแล้วนั้น หากเรามีเค้าโครงเรื่องที่เราสร้างไว้ เราต้องคิดต่อไปว่าเราจะถ่ายทอดมันออกมาอย่างไรดี มีเทคนิคมากมายในการเล่าเรื่อง โดยเราอาจจะต้องคิดก่อนว่าจะให้ใครเป็นผู้เล่าเรื่อง สิ่งที่จะเล่าเรื่องหรือเป็นตัวดำเนินเรื่องนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นองค์ประกอบในเรื่องสั้น เราสามารถมอบหมายหน้าที่นี้ให้ใครหรือวัตถุสิ่งใดก็ได้ ที่เราจินตนาการถึง องค์ประกอบหลักที่นักเขียนส่วนใหญ่ใช้เป็นตัวเล่าเรื่องมีดังนี้

  • ตัวเอกของเรื่อง
  • ผู้สังเกตุการณ์
  • วัตถุสิ่งของ
  • กิจกรรมที่เกิดขึ้น
การเลือกว่าจะให้ใครหรือวัตถุใดเป็นตัวเล่าเรื่อง ก็เหมือนกับที่เราเปลี่ยนจุดยืนในการมองไปที่ท้องทะเล เช่นหากเราเปรียบทะเลเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง และเราให้วัตถุชิ้นนั้นคือปัญหาการทุจริตในการก่อสร้างอาคารโรงเรียน หากเราเปลี่ยนผู้เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ มุมมองของการทุจริตในการก่อสร้างก็จะเปลี่ยนไปทันที ลองดูตัวอย่างดังต่อไปนี้

นักเรียน หากผู้เล่าเรื่องคือนักเรียน นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนย่อมเป็นผู้สูญเสียผลประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะการทุจริตอาจสร้างความเสียหายให้โดยตรง เช่นมีการทุจริตจนสร้างอาคารเรียนไม่เสร็จจึงไม่มีโอกาสใช้งาน หรือสร้างเสร็จแต่อาคารถล่มเพราะก่อสร้างไม่ได้คุณภาพ เด็กนักเรียนย่อมออกมาต่อต้านหรือเรียกร้องให้มีการตรวจสอบหาคนผิด

ผู้รับเหมาก่อสร้าง มีความเป็นไปได้ที่ผู้รับเหมาก่อสร้างจะได้รับผลประโยชน์จากการทุจริต เขาไม่มีส่วนได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทุจริตอยู่แล้ว (ไม่นับรวมว่าอาจถูกจับได้) มุมมองของเขาจึงไม่สนใจกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น การเล่าเรื่องจากผู้รับเหมาที่ทุจริตคือต้องหาวิธีที่จะโกงให้สำเร็จ โดยที่ไม่มีใครจับได้

เจ้าหน้าที่ของรัฐ การทุจริตอาจมีเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมาเกี่ยวข้อง หากมองในมุมมองของเจ้าหน้าที่ เขาก็ต้องพยายามทำให้ตัวเองรอดพ้นความผิดไม่ให้มีใครจับได้เช่นกัน

ผู้สังเกตุการณ์ มุมมองของผู้สังเกตุการณ์ที่มองเห็นภาพรวมทั้งหมด อาจจะบรรยายถึงความลำบากของนักเรียน และพูดถึงความละโมบและขี้โกงของคนทำผิด การเอาตัวรอดจากช้อกล่าวหาต่างๆนาๆ

หรือเราอาจจะให้วัถุสิ่งของเป็นคนเล่าเรื่อง อาจจะเป็นซากตึกที่ถล่มลงมากว่าครึ่ง หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้น เช่นการทุบตึกที่ถล่มไปแล้วกว่าครึ่ง มุมมองในการเล่าเรื่องก็จะเป็นการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั่นเอง

ตัวเอกของเรื่อง

ตัวเอกของเรื่องหมายถึงเป็นการเล่าจากบุคคลที่ 1 ก็คือตัวละครที่เราสร้างขึ้นมา และในตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาก็ต้องมีลักษณะนิสัยและทัศนคติที่เราได้ออกแบบมาแล้ว มุมมองของการพูดถึงประเด็นปัญหาผ่านตัวละครตัวนี้ จะต้องสอดคล้องและรองรับเหตุผลของตัวละครที่เล่าเรื่อง

ดังตัวอย่างข้างบนที่ในมุมมองของแต่ละคนที่แตกต่าง จากการคิดถึงปัญหาการทุจริตสร้างโรงเรียน จุดยืนที่ต่างกันและทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเรื่องสั้นถึงมุมมองในการเล่าเรื่องของตัวละครที่จุดยืนต่างกัน
คืนนี้คงเป็นอีกคืนหนึ่งที่ผมไม่สามารถทำตามคำขอของเธอได้อีกครั้ง ผมไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังจากผู้คนรอบข้างได้ทั้งหมดทุกคน ผมจึงต้องให้ลำดับความสำคัญของแต่ละคน แต่ผมก็รู้สึกผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกที่การตัดสินใจในแต่ละครั้งของผม จะให้ความสำคัญกับเธอเป็นลำดับสุดท้าย

ไม่หรอกครับ ผมไม่ได้มีเมียน้อยหรือแอบไปมีบ้านเล็กบ้านน้อยที่ไหน แต่บางครั้งเรื่องที่ทำงานผมก็ต้องออกไปพบปะกับลูกค้า เจ้านาย หรือหุ้นส่วนบริษัทที่ผมต้องหวังพึ่งพิงบารมีของพวกเขาอยู่ และอีกอย่างคือครอบครัวของผมคือครอบครัวใหญ่ มีญาติผู้ใหญ่และลูกพี่ลูกน้องมากมายที่ผมจะต้องไปเจอหรือทำธุระด้วย ผมคิดเสมอว่าเธอคงจะเข้าใจผม ไม่เก็บเรื่องหยุมหยิมพวกนี้มาเป็นเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง และเธอก็ไม่เคยเอาเรื่องพวกนี้มาเป็นเรื่องทะเลาะกับผมเลยสักครั้ง แต่ในใจลึกๆแล้วผมไม่รู้ว่าเธอคิดอย่างไร

คืนนี้ผมปฏิเสธเธอไปอีกครั้งที่จะออกไปทานอาหารมื้อค่ำด้วยกัน เพราะผมมีงานด่วนต้องต้อนรับลูกค้าจากต่างประเทศ โดยที่ผมมีลางสังหรว่าคืนนี้อาจจะเป็นโอกาสเพียงครั้งสุดท้ายที่ให้ผมได้แก้ตัว เมื่อผมต้องเลือกระว่างงานกับภรรยา สมองสั่งการให้ผมเลือกงานก่อน เมื่อเวลาผ่านไปและผมมองย้อนกลับมา ผมรู้สึกตำหนิตัวเองที่ไม่แม้แต่จะโทรไปขอเลื่อนนัดกับเธอ
ในวัดถัดมาผมพยายามเช็คทุกตารางนัดในปฏิธินว่าตัวเองจะว่างหรือไม่ ผมไม่มีงานในคืนนี้ ผมโทรหาเธอหลายรอบเพื่อยื่นข้อเสนอที่ผมปฏิเสธไปหลายครั้งให้เธอ ไม่มีเสียงตอบรับใดๆจากคำขอของผมผ่านโทรศัพท์ ผมทำได้แต่เพียงส่งข้อความไปหาเธอ และในคืนนั้นผมไปรอเธอยังร้านอาหารที่เราเคยนัดกันไว้

ผมนั่งรอบนโต๊ะอาหารในร้านที่บรรยากาศอบอวลไปด้วยเสียงเพลงและแสงไฟ อาหารถูกจัดเตรียมไว้สำหรับ 2 คน จาน 2 ชุดและแก้วน้ำอีก 2 ใบ ทุกอย่างบนโต๊ะอาหารสมบูรณ์แบบครบทุกอย่าง ที่สิ่งที่ขาดไปคือ 'เธอ' เท่านั้น

ผมนั่งรอด้วยจิตใจที่ว้าวุ่น และไม่กล้าพอที่จะกดเบอร์โทรศัพท์ของเธออีกครั้ง เวลาผ่านไปจนร้านใกล้ปิด ผมเดินออกจากร้านโดยที่อาหารบนโต๊ะยังไม่ถูกแตะ แก้วน้ำยังไม่ถูกจิบ ผมเดินออกจากร้านอาหารพร้อมน้ำตา
นี่คือตัวอย่างการเล่าเรื่องจากมุมมองของฝ่ายชาย เราลองดูมุมมองของฝ่ายหญิงกันบ้าง

ฉันไ่ม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับฉัน เราแต่งงานกันมานานแล้ว หากมองจากคนภายนอกก็ดูเหมือนว่าชีวิตแต่งงานของเราดูราบเรียบไม่มีปัญหาอะไร แต่ทำไมเมื่อฉันคิดถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความเหงาที่ออกมาจากก้นบึ้งของจิตใจมักจะออกมาครอบงำเสมอ ฉันร้องไห้หลายครั้งจนตอนนี้ไม่มีน้ำตาแล้วให้กับใคร

บางทีฉันก็พยายามใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ แกล้งทำเป็นเข้าใจเสมอว่าเขามีภาระหน้าที่ต้องทำ แต่เหตุการณ์ที่เกินขึ้นในคืนนี้มันยิ่งตอกย้ำความรู้สึกที่ฉันคิดมาไว้ตลอดก็ได้ ฉันรู้ดีว่าเขารักฉัน และเขาไม่ได้ไปมีคนอื่น เพียงแต่เขาให้ความสำคัญกับฉันน้อยไป

เรานัดกันมาทานอาหารเย็นที่ร้านประจำของเรา ที่นั่งประจำฉันก็มาจองไว้ตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด ฉันส่งอาหารมาสำหรับคน 2 คน จาน 2 ชุดและแก้วน้ำอีก 2 ใบ ทุกอย่างบนโต๊ะอาหารสมบูรณ์แบบครบทุกอย่าง ที่สิ่งที่ขาดไปคือ 'เขา' เท่านั้น

ฉันนั่งรอด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่กล้าแม้จะโทรหาเขาเพราะรู้ว่าคงติดธุระสำคัญ ไม่อยากให้เขาเสียสมาธิ ฉันนั่งรอจนพนักงานเริ่มมาเก็บร้าน สุดท้ายฉันเดินออกจากร้านโดยที่อาหารบนโต๊ะยังไม่ถูกแตะ แก้วน้ำยังไม่ถูกดื่ม ฉันเดินออกจากร้านพร้อมน้ำตา

ฉันนอนร้องไห้ทั้งคืนจนวันต่อมาน้ำเสียงยังไม่กลับมาสู่ปกติ เขาโทรมาหาฉันแต่ฉันก็ไม่กล้ารับเพราะไม่อยากให้เขารู้ว่าฉันร้องไห้ สักพักเขาส่งข้อความมาที่โทรศัพท์เพื่อขอนัดไปทานอาหารที่ร้านเดิน ฉันดีใจแต่เมื่อมองดูสีหน้าตัวเองในกระจกที่ดวงตายังแดงก่ำและขอบตัวที่บวมช้ำ จึงคิดว่าจะไม่ไปหาเขาในคืนนี้
ตัวอย่างการเล่าเรื่องจากตัวละคร 2 ตัวนี้คือวิธีคิดและทัศคติที่แตกต่างกัน หากลองดูจะเห็นว่าฝ่ายชายก็คือองค์ประกอบหนึ่งจากเรื่อง และฝ่ายหญิงก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของเรื่อง แต่ถ้าหากเราลองมองดูดีๆมันมีองค์ประกอบมากมายทีเราสามารถเพิ่มเข้าไปได้ไม่รู้จบ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างเพิ่มองค์ประกอบที่ใกล้ตัวระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงขึ้นมาเป็นตัวเล่าเรื่อง นั่นก็คือเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร

นี่ก็นานกว่าชั่วโมงนึงแล้ว ที่ชายคนนั้นนั่งรอใครบางคนอยู่บนโต๊ะอาหาร ฉันแอบเฝ้าสังเกตเขามาสักพักแล้ว ท่าทางของเขาเหมือนร้อนรนใจถึงเรื่องอะไรสักอย่าง เขาเฝ้ามองที่เครื่องโทรศัพท์ ได้แต่กดปุ่มแต่ก็ไม่ได้เห็นคุณอะไรกับใคร

ทุกอย่างที่อยู่บนโต๊ะอาหารนั้นเพรียบพร้อมไปด้วยอาหารสำหรับ 2 คน จาน 2 ชุดและแก้วน้ำอีก 2 ใบ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือคนอีกคนหนึ่ง

เวลาผ่านไปเนิ่นนานจนพวกฉันเริ่มจะเก็บร้าน เขาเรียกพนักงานไปเก็บเงินค่าอาหารโดยที่อาหารในแต่ละจานไม่ถูกแตะเลย น้ำในแก้วก็ไม่ถูกยกดื่ม และฉันเห็นเขาเดินออกจากร้านอาหารพร้อมน้ำตา ฉันยืนมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ความรู้สึกหนึ่งเกิดขึ้นมาจากความทรงจำของฉันทันที ฉันเคยเห็นเหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้แล้ว ทุกอย่างเหมือนกันหมดยกเว้นจากผู้ชายเปลี่ยนเป็นผู้หญิงและช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป

ใช่แล้ว เมื่อวานมีผู้หญิงคนหนึ่งมานั่งที่โต๊ะตัวเดียวกัน สั่งอาหารเมนูเดียวกัน เครื่องดื่มยี่ห้อเดียวกัน เธอนั่งเหม่อลอยเหมือนเฝ้ารอใครบางคน เธอเฝ้ามองดูโทรศัพท์และกดปุ่มแต่ก็ไม่ได้คุยกับใครผ่านโทรศัพท์ และเวลาผ่านไปจนใกล้จะปิดร้านเธอก็เดินจากไปโดยไม่ไม่แตะอาหารและเครื่องดื่มบนโต๊ะ ฉันคิดว่าพวกเขาทั้งสองต้องเป็นคู่รักกันแน่ๆ ฉันไม่รู้ว่าพวกเขามีเรื่องบาดหมางใจอะไร แต่ฉันมั่นใจว่าพวกเขาต่างแคร์ความรู้สึกของอีกฝ่ายมาก เพียงแค่มันอาจมีความจำเป็นอะไรสักอย่างที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างทั้งสองฝ่าย
นี่คือตัวอย่างเรื่องที่ถูกเล่าจากคน 3 คนที่มีจุดยืนต่างกัน ทั้ง 3 คนมีทัศนคติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่คล้ายๆกัน เรื่องราวที่ถูกเล่าจากคนทั้ง 3 คนนั้นจึงไม่ค่อยจะมีอะไรที่แตกตางกันมากนัก แต่ถ้าหากเราลองเปลี่ยนเป็นจุดยืนทางสัมคมและมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และการสูญเสียผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละคน มุมมองในการเล่าเรื่องราวจากแต่ละคนอาจจะเป็นด้านตรงกันข้ามไปเลย

ประเด็นเรื่องภาษีที่ดิ มีการพยายามจะนำมาใช้ในสังคมไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย มุมมองของแต่ละคนที่จะมองเรื่องภาษีมรดกว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายนี้จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้จริงหรือเปล่า แต่มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้หรือเสียประโยชนช์จากการใช้กฎหมายนี้ต่างหาก

ห้องอาหารในคฤหาสหลายสิบล้าน คนกลุ่มหนึ่งกำลังคุยกันเสียงดังท่ามกลางมื้ออาหารราคาแพง ผู้คนในวัยผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบ 5 ถึง 6 รอบ มีทั้งหญิงชายล้วนประดับร่างกายด้วยสร้อยแหวนมีค่า เสือผ้าแบรนด์เนมราคาแพงระยับ พวกเขาจับกลุ่มคุยกันบนโต๊ะอาหารสุดหรู

"เสี่ยเม้งจะทำอย่างไรหากมีการใช้กฎหมายภาษีที่ดินจริงๆ แล้วที่ดิน 200 กว่าไร่ที่สุพรรณมีคนสนใจหรือยังล่ะ

"ถ้ากฎหมายนั่นถูกบังคับใช้ก่อนที่ผมจะขายที่ดินแปลงนั้นได้คงจะเดือดร้อนกันถ้วนหน้าเลย เคยมีนายทุนชาวไทยมาติดต่อไว้เหมือนกันแต่พอมีข่าวว่าจะประกาศใช้ภาษีที่ดิน นายทุนพวกนั้นมันก็เตรียมจะกดราคาที่ดินทันทีเลย เลวมาก!"

เสี่ยเม้งพูดขึ้นด้วยอารมณ์เซ็ง

"ใครเลว นายทุนหรือรัฐบาล"

"ก็ทั้งสองน่ะแหล่ะ ไม่รู้มันจะรีบประกาศหาพระแสงอะไรตอนนี้ แต่ยังโชคดีนะที่ผมดีลไว้กับพวกนายทุนจากตะวันออกกลางไว้แล้ว พวกนี้ไม่ต่อราคาสักคำพร้อมจะทุ่มเงินทุกเมื่อ"

เสี่ยเม้งกระดกไวน์ราคาขวดละหลายหมื่นเข้าปากก่อนจะพูดต่อ

"แล้วเสี่ยป๋อเป็นอย่างไรบ้างล่ะ ที่ดิน 800 กว่าไร่มีโอกาสจะขายได้ก่อนมั้ย"

"ใจเย็นเสี่ยเม้ง ไม่ต้องไปรีบร้อนกับเรื่องพวกนี้หรอก ขอแค่เรามีเงินเสียหน่อย การทำธุรกิจของเราก็จะง่ายลงไปทันที ถือเสียว่าบริจาคเงินให้พวกข้าราชการสัก 10 หรือ 20 ล้าน แต่เราไม่ต้องเสียส่วนต่างไปเป็นร้อยๆล้าน คิดดูสิว่ามันคุ้มกันหรือไม่"

เสียงหัวเราะของทั้งคู่ดังลั่น แต่นั่นก็ไม่ได้เรียกความสนใจจากพวกผู้หญิงที่ไปดึงหน้าจนตึงเปรี๊ยะ พวกเธอกำลังใช้สมาธิอยู่กับการถอดเครื่องประดับเพชรมาโอ้อวดให้คนอื่นๆดู

"จะดีเหรอเสี่ยป๋อ ติดสินบนเจ้าหน้าที่มีความผิดร้ายแรงนะ"

"โธ่เสี่ย ไม่ใช่เรื่องนี้เสี่ยจะไม่รู้ คุกน่ะมีไว้ขังหมา คนจนๆและคนโง่เท่านั้นแหละ กฎหมายไม่สามารถใช้กับคนแบบเราได้หรอก จริงมั้ย"

เสียงหัวเราะจากทั้งคู่ดังลั่นอีกครั้ง
ลองดูมุมมองจากคนที่อยู่อีกฟากดู พวกเขาจะมองเรื่องภาษีมรดกนี้อย่างไร

ลานกลางบ้านไม้เก่าๆ มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งล้อมวงกินข้าวกับพื้นบ้าน แต่ละคนต่างจกข้าวเหนียวและจิ้มมันลงในน้ำแกงก่อนเอาใส่ปาก

"ที่นาของจอนขายไปหรือยัง"

กำธรพูดในระหว่างที่เคี้ยวข้าวไปด้วย

"ที่ตรงนั้นเสี่ยป๋อมาเอาไปแล้ว 3 ไร่ได้มาล้านกว่าบาท"

เชิดตอบ

"มันจะบ้าหรือไงวะ ที่ตั้ง 3 ไร่ได้เงินมาแค่ล้านกว่าบาท แล้วต่อไปมันจะไปทำอะไรกิน"

"ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว ไอ้จอนมันดันไปกู้เงินเสี่ยป๋อมาทำนาน่ะสิ แล้วฝนฟ้าบ้านเราเอย ไหนจะน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้วอีก ยืมเงินเสี่ยมาแค่ 3 แสน ผ่านไป 3 ปีกลายเป็นเกือบ 2 ล้าน นี่ถ้าไอ้จอนมันไม่รีบตัดสินใจขายตอนนี้นะ ต่อไปมันต้องยกที่ดินให้ไอ้เสี่ยป๋อนั่นฟรีๆเลยรู้มั้ย"

"อืม เราคนจนก็ต้องทุกข์ทนไปตลอดชาติแหล่ะว่ะ แล้วต่อไปมันจะไปทำนาที่ไหน"

กำธรพูดจบก่อนจะกระดกเหล้าขาวใส่ปากรวดเดียว ในชีวิตของเขาแล้วคงมีแค่เหล้าขาวนี่แหล่ะ ที่พอจะทำให้เขาลืมเลือนความทุกข์ไปได้บ้าง แม้จะแค่ชั่วคราว

"ก็คงเหมือนคนอื่นๆน่ะ พอนายทุนยึดที่นาไป เราก็ไปเช่านาที่เดิมจากนั้นทุนนั้นทำนาต่อไป"

ถึงคราวที่เชิดจะกระดกเหล้าขาวลงคอบ้าง เหตุผลที่เขาดื่มเหล้าข้าวก็เหมือนกับที่กำธรดื่ม

"แล้วนายทุนพวกนั้นมันจะคุ้มทุนเหรอวะ ซื้อมาเป็นล้าน มาปล่อยให้เราเช่าปีสองสามหมื่น"

"ไม่หรอก ไอ่พวกนี้มันก็ประกาศขายที่ดินไปด้วย ถ้าได้ราคาดีหน่อยมันก็ไล่คนทำนาออกแล้วปล่อยขายทันทีเลย มันซื้อไปเกร็งกำไรไง"

"อ่อ เป็นอย่างนี้นี่เอง"

กำธรเตรียมรินเหล้าขาวลงในแก้วเดิมอีกครั้ง เพราะความทุกข์ของเขามันมากมายเหลือเกินที่เหล้าแค่แกัวเดียวจะระงับมันอยู่

"แต่เห็นเขาคุยกันว่ารัฐจะใช้ภาษีที่ดินเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการซื้อที่ดินไปเกร็งกำไร แต่ก็ไม่รู้นะว่าจะช่วยยังไง เห็นเขาว่าไวัอย่างนั้น"

เชิดพูด

"เออ มีอะไรก็รีบเอาออกมาใช้เถอะ ขอให้มันพอช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นได้บ้าง ตอนนี้เราเลิกพูดถึงไอ้จอนมันก่อนดีกว่า ยิ่งพูดถึงก็เครียดแทนแล้ว พรุ่งนี้เราก็คงต้องไปขอเช่าที่นาเสื่ยเม้งเพื่อเอาไว้ทำหน้าปีหน้าต่อไป"

กำธรพูดจบและนิ่งไปสักครู่หนึ่งก่อนจะตะโกนระบายอารมณ์ออกมา

"เครียดโว้ย!! นังหนู ไปแปะเหล้าที่ร้านเจ๊เพ็ญมาขวดนึง"
กำธรตะโกนสั่งให้ลูกสาวไปเอาเหล้าที่ร้านของชำข้างบ้านมาดื่มอีกหนึ่งขวด
ในการเล่าเรื่องโดยใช้บุคคลเป็นตัวเล่าเรื่อง เราสามารถใส่ความคิดเห็นและอคติผ่านตัวละครที่เล่าเรื่องนั้นได้ โดยความเห็นและอคตินั้นต้องสอดคล้องกับลักษณะนิสัยและความจำเป็นของตัวละครดังตัวอย่างข้างบน การเลือกตัวละครตัวไหนให้เป็นผู้เล่าเรื่องจึงเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางของเนื้อหาว่าต้องการให้ออกมาในรูปแบบไหน

เราจะเห็นว่า การใช้ตัวละครเป็นผู้เล่าเรื่อง มักจะใส่ความคิดเห็นและอคติลงไปด้วย ซึ่งความคิดเห็นและอคตินี้อาจจะเป็นของผู้แต่งเรื่องสั้นเอง หรืออาจจะเป็นของคนอื่น เช่นคนในสังคม คนใกล้ตัว บุคคลสำคัญหรืออาจจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด แต่ถ้าไม่ใช่การเล่าเรื่องผ่านบุคคล แต่เป็นการเล่าเรื่องผ่านผู้สังเกตการณ์ วัตถุสิ่งของ กิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเอง วิธีการเหล่านี้จะไม่มีการใส่ความคิดเห็นหรืออคติอะไรลงไปเลย ผู้แต่งไม่มีสิทธ์ไปตัดสินว่าใครผิดหรือใครถูก ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรดีหรืออะไรเลว คนที่จะตัดสินว่าสิ่งต่างๆเป็นอย่างไรก็คือผู้ที่อ่านงานเขียนของเรานั่นเอง

ผู้สังเกตการณ์

ในที่นี้ผู้สังเกตการณ์ที่จะมาเล่าเรื่องก็คือตัวนักเขียนเรื่องสั้นเอง นักเขียนจะทำหน้าที่บอกว่าใคร ทำอะไร ที่ไหนและเมื่อไหร่ ความจริงแล้วตัวอย่างข้างบนที่ผู้เขียนยกมาในเรื่องภาษีที่ดินั้นก็คือการเล่าจากผู้สังเกตการณ์ คือแค่บอกว่าใครพูดอะไร อยู่ในอิริยาบทไหนแค่นั้นเอง แต่ที่ยกตัวอย่างไว้ในหัวข้อก่อนหน้าเพราะว่าอยากให้ดูเรื่องมุมมองมากกว่า เราไม่ได้บอกหรือตัดสินว่าเรื่องภาษีที่ดินนั่นเป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด เราไม่ได้เป็นคนพูดอะไรออกมาเลยว่ามันเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ทุกสิ่งทุกอย่างที่พูดคือตัวละครในเรื่องสั้นนั้น และคนที่จะตัดสินว่าเรื่องภาษีที่ดินมันถูกหรือมันผิดหรือว่ามันจะเหมาะสมหรือไม่ก็คือผู้ที่อ่านเรื่องสั้นของเรา ถ้าให้ชาวนามาอ่าน เขาก็จะมีความเห็นอีกอย่าง แต่ถ้าให้นายทุนมาอ่าน เขาก็จะมีความเห็นอีกอย่าง

แต่ในฐานะของผู้สังเกตการณ์นั้นก็ยังสามารถใส่ความเห็นหรืออคติลงไปได้ด้วย ซึ่งการทำแบบนี้ก็เหมือนกับการพยายามเขียนเหตุผลให้นักอ่านคล้อยตามในสิ่งที่เราพูด เป็นทิศทางที่นักเขียนต้องกำหนดไว้ก่อนแล้วว่าจะเขัาข้างฝ่ายไหน อยากจะสนับสนุนใคร การเล่าเรื่องแบบนี้เป็นการเล่าเรื่องแบบมีนัยยะ ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ หากผู้เขียนต้องการเข้าข้างชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ อยากจะให้รู้ถึงความลำบากและความทุกข์ สิ่งที่ผู้เขียนจะทำคือการบรรยายสิ่งเหล่านั้นออกมา

กำธรก้มเด็ดต้นข้าวที่มีร่องรอยการกัดแทะของเพลี้ยกระโดดในแปลงนาของเขา ต้นข้าวอีกหลายต้นที่อยู่ในนาข้าวอีกกว่าสิบไล่สภาพก็ไม่ต่างไปจากนี้ กำธรไม่มีน้ำที่ไหลรินออกจากตาเพื่อจะระบายความคับแค้นใจอีกต่อไป เขารู้ตัวมานานแล้วว่าครั้งแรกของการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงที่นายทุนเอามาแจกฟรีๆเมื่อ 5 ปีก่อนมันจะเป็นสาเหตุให้ข้าวของขาวเริ่มให้ผลผลิตน้อยในปีนี้ แต่เมื่อเคยใช้มันไปแล้วครั้งหนึ่งก็เหมือนกับโดนคำสาบให้ต้องใช้มันไปตลอด สุขภาพของกำธรก็เริ่มจะแย่ลงจากการสูดดมสารเคมีเข้าไปในร่างกาย ทำให้เขามีโรคแทรกซ้อนใหม่ๆ แต่นั่นก็ไม่ทำให้กำธรหนักใจมากไปกว่าการที่เขาไม่มีผลผลิตไปขายเพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายในบ้าน ไม่มีเงินส่งค่าเทอมให้ลูกสาว

และในตอนนี้เองเข้ารู้แล้วว่านายทุนที่เอาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมาให้เขาฟรีนั้นเพื่ออะไร เพราะเมื่อไม่นานมานี้นายทุนคนนั้นพยายามที่จะมาขอซื้อที่ดินจากเขาในราคาถูก และหนี้สินจากการทำนาก็เป็นตัวผลักดันอีกอย่างที่ทำให้กำธรอาจจะต้องขายที่นา
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้กำธรครุ่นคิดในหัวมาตลอดว่าเขาทำผิดอะไรนักหนา จึงต้องถูกสังคมลงโทษเช่นนี้ กำธรจำได้ว่าเขาปลูกข้าวเลี้ยงคนมาตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ ตอนนี้เขาจะ 60 แล้ว มีคนในสังคมที่โตมาเพราะข้าวของกำธรหลายหมื่นหลายแสนคน แต่สิ่งนี้หรือคือผลตอบแทนที่เขาควรได้รับ

กำธรมองไปที่แกลลอนยาฆ่าแมลงที่นายทุนคนนั้นแจกให้เขาฟรีๆทุกปี เขาคิดว่าจะขอใช้ยาฆ่าแมลงครั้งสุดท้ายในชีวิตนี้โดยพยายามจะกรอกใส่ปากตัวเองเพื่อฆ่าตัวตาย แต่ยังไม่ทันที่กำธรจะบิดเกลียวฝาแกลลอนครบรอบ กำธรคิดถึงสิ่งที่เขารักมากที่สุดในชีวิต นั่นก็คือลูกสาวของเขานั่นเอง กำธรบิดฝาเกลียวแกลลอนยาฆ่าแมลงกลับให้ปิดแน่นเหมือนเดิน

ตัวอย่างข้างบนคือการสื่อถึงความคิดของผู้แต่งเรื่องสั้น ผู้แต่งต้องการให้นักอ่านคล้อยตามและไม่สนับสนุนการเกร็งกำไรที่ดินของนายทุน มาถึงตรงนี้ถ้าผู้อ่านยังมองภาพไม่ออกถึงผู้สังเกตการณ์ที่ไม่แสดงความคิดเห็น และผู้สังเกตการณ์ที่แสดงความคิดเห็น ผู้เขียนขอลองให้ผู้อ่านคิดถึงภาพยนตร์หลายๆเรื่องที่เคยดู โดยมากภาพยนตร์มักจะเล่าเรื่องโดยผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ออกความเห็น คือในภาพยนตร์ก็จะฉายภาพว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ตัวละครสนทนากับใครว่าอย่างไร ฯลฯ ภาพยนตร์ก็จะบอกแค่นี้และทุกเหตุการณ์ก็จะผูกเรื่องกันจนทำให้ผู้ชมเข้าใจไปเอง

แต่ภาพยนตร์บางเรื่องที่มีคนพูดบรรยายไปด้วย โดยอธิบายเรื่องอะไรก็แล้วแต่ออกมาเป็นคำพูดโดยอาจจะใส่ความเห็นหรืออคติลงไปด้วย นี่ก็เปรียบเหมือนการเล่าเรื่องจากผู้สังเกตการณ์โดยใส่ความเห็นหรืออคติเข้าไปด้วยนั่นเอง

วัตถุสิ่งของ

โดยสามัญสำนึกของคนเรามักจะคิดว่าสิ่งของพูดไม่ได้ มันไม่สามารถบันทึกเรื่องราวและถ่ายทอดอะไรออกมาได้      ใช่ครับ มันไม่สามารถพูดออกมาเป็นคำพูดให้เราเข้าใจได้โดยง่าย และมันไม่สามารถจดจำเรื่องราวและเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือให้เราอ่าน แต่บางทีวัตถุบางอย่างมีประวัติศาสตร์ที่เคยถูกบันทึกไว้แล้ว หรือเราจะใช้จินตนาการในการรับฟังสิ่งที่มันอยากจะบอกกับเรา วัตถุง่ายๆที่มันสามารถบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นและถ่ายทอดมันออกมาเป็นตัวอักษรให้คนอ่านเข้าใจก็คือกระดาษ ตัวอย่างต่อไปนี้คือร่องรอยของปากกาที่มีคนมาเขียนไว้ หากเราแต่งข้อความหลายๆข้อความบนกระดาษให้มันผูกเรื่องราวออกมาได้ นั่นก็ถือว่าเป็นเรื่อวสั้นที่ถูกเล่าออกมาผ่านวัตถุ

สองสามีภรรยาที่ไม่ค่อยจะได้เจอหน้ากันเพราะเวลาทำงานไม่ตรงกัน การสื่อสารของทั้งคู่คือการเขียนโน๊ตลงบนกระดาษและนำไปติดที่ตู้เย็น เพื่อส่งข้อความให้อีกฝ่ายรับรู้

"ถึงดา คืนนี้พี่ไม่ว่างนะอาจจะกลับดึก พอดีติดลูกค้าจากต่างประเทศ กินข้าวไปก่อนเลย 2/8/56"
"ถึงดา วันนี้ประชุมเครียดมากเลย มีปัญหาที่บริษัทนิดหน่อย เดี๋ยวจะไปกินเหล้ากับเพื่อน นอนไปก่อนเลย 4/8/56"
"ถึงพี่สัก วันนี้น้องรู้สึกไม่สบาย เลยไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอบอกให้น้องนอนที่โรงพยาบาลหนึ่งคืนเพื่อดูอาการ ตอนนี้กลับมาเก็บของใช้ที่บ้าน ถ้าพี่กลับมาแล้วให้แวะไปหาน้องด้วยนะ 8/8/56"
"ถึงดา วันนั้นพี่ขอโทษที่ไม่ได้ไป พอดีคืนนั้นลูกของเจ้านายไม่สบาย พี่ต้องขับรถพาไปโรงพยาบาล แต่พี่ก็โทรบอกรินให้ไปเยี่ยมดาแล้วนะ 10/8/56"
"ถึงพี่สัก พรุ่งนี้พ่อกับแม่จะมาเยี่ยมที่บ้าน พี่อย่าลืมกลับมากินข้าวด้วยกันนะ ท่านถามถึงพี่ด้วย 15/8/56"
"ถึงดา เมื่อคืนพี่ไปไม่ทันจริงๆ งานที่บริษัทไม่เสร็จ เดี๋ยวไว้วันหยุดเราค่อยไปเยี่ยมท่านก็แล้วกัน 17/8/56"
"ถึงพี่สัก เมื่อวานตอนเย็นน้องเป็นลมที่ออฟฟิศ ได้นอนโรงพยาบาลหนึ่งคืน เมื่อคืนตอนดึกๆโทรหาทำไมไม่รับ 23/8/56"
"ถึงดา ขอโทษที คืนนั้นเลี้ยงส่งลูกค้ากลับต่างประเทศในผับ ไม่ได้ยินเสียงโทรศัพท์ แต่ดาไปโรงบาลเอกชนแล้วใช่มั้ย ถ้าไปที่นั่นก็ไม่ต้องเป็นห่วง เขาบริการดีอยู่แล้ว 25/8/56"
"ถึงพี่สัก พี่ไม่กลับบ้านหลายคืนแล้ว โทรไปหาทำไมต้องตัดสายทิ้งตลอด 3/9/56"
"ถึงดา พี่ทำงาน เคลียร์บัญชีให้บริษัท ถ้าไม่มีธุระสำคัญก็ไม่ต้องโทรมานะ ปวดหัวจะตายอยู่แล้ว 8/9/56"
"ถึงพี่สัก วันนี้หมอนัดไปรับผลตรวจเลือด หมอบอกว่าน้องติดเชื้อ HIV"

ตัวอย่างนี้ยังใช้วัตถุที่ง่ายในการอธิบายเรื่อง เพราะมันเป็นข้อความที่คนใช้สื่อสารกัน จึงง่ายที่จะอธิบายความเป็นไปของเหตุการณ์ แต่วัตถุอื่นๆเช่นต้นไม้ใหญ่นับร้อยปี กำแพงที่เก่าแต่มีตัวหนังสือจากคนหลายคนบนนั้น รถยนต์คันเก่า ไม้เทนนิสมียี่ห้อราคาแพงแต่ยังไม่ถูกขึ้นเอ็น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถใช้เป็นตัวเล่าเรื่องได้ทั้งสิ้น 

ต้นไม้อาจจะพูดถึงว่าใครเป็นคนปลูก มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงเวลาที่ต้นไม้กำลังเติบโต และจุดสุดท้ายของต้นไม้ หรือเรื่องราวความทุกข์ หรือความปราถนาของผู้คนที่ต้องการระบายออกมา พวกเขาเลือกกำแพง หรือครอบครัวที่เริ่มต้นชีวิตจากความยากจน ใช้รถยนต์ที่เป็นมรดกชิ้นสุดท้ายในการสร้างฐานะ หรือหญิงสาวที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเทนนิสระดับโลก เธอฝึกซ้อมอย่างจิงจังตั้งแต่ยังเด็ก พ่อของเธอสั่งไม้เทนนิสชั้นดีจากต่างประเทศให้เธอเป็นของขวัญวันเกิด โดยพ่อของเธอบอกกับเธอว่าจะเอาไม้นี้ไปขึ้นเอ็นที่ร้าน แต่ก่อนจะถึงวันนั้นพ่อเธอหัวใจล้มเหลวเสียก่อน เธอตัดสินใจเก็บไม้เทนนิสนี้ไว้โดยไม่ยอมไปขึ้นเอ็น

ตัวอย่างที่กล่าวไปนั้นเรื่องราวอาจจะไม่ได้ถูกเล่าจากวัตถุ แต่จะเห็นว่าวัตถุเป็นตัวชี้นำให้มีการเล่าเรื่อง วิธีการนี้ถือว่าเป็นการผสมผสานผู้เล่าเรื่องให้มีหลายๆบทบาท

กิจกรรมที่เกิดขึ้น

การเล่าเรื่องโดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นเหมือนกับว่าไม่มีใครมาเล่าเลย ผู้อ่านงานเขียนจะรับรู้เรื่องราวได้จากตัวเขาเอง หากสังเกตดู การเล่าเรื่องจากกิจกรรมจะคล้ายกับการเล่าเรื่องจากผู้สังเกตการณ์ แต่ถ้าดูดีๆแล้วเรื่องที่ถูกเล่าจากผู้สังเกตการณ์จะเหมือนกับมีบุคคลที่ 3 มาเล่าให้นักอ่านฟังอีกทีหนึ่ง ผู้สังเกตการณ์อาจจะมีคำบรรยายหรือช่วยอธิบายบางสิ่งออกมา แต่การเล่าโดยกิจกรรมนั้นจะบอกในสิ่งที่ตาเห็นและหูได้ยิน เนื้อเรื่องจะบอกว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น แต่ไม่บอกเบื้องหลังหรือความจำเป็นใดๆ เนื้อเรื่องจะบอกว่าตัวละครพูดอะไรออกมา แต่ไม่อธิบายถึงความในใจของตัวละครให้นักอ่านรับรู้ ดังนั้นแล้วจะเป็นหน้าที่ของนักอ่านเองที่จะตีความเรื่องราวนั้นออกมาตามที่พวกเขาเข้าใจ


ตัวอย่างเรื่องสั้นจากลิงค์นี้จะเป็นบทสนทนาล้วนๆ แต่มีการบอกว่าเป็นบทสนทนาจากใครและคุยกันที่ไหน การเล่าเรื่องแบบนี้อาจจะทำให้เรื่องสั้นของเราเป็นนามธรรม นักอ่านสามารถตีความไปได้ต่างๆนานา เพราะเราไม่มีการชี้นำใดๆลงไป เรื่องสั้นที่เล่าเรื่องโดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นยังเหมาะสำหรับเนื้อเรื่องที่มีประเด็นอ่อนไหว เช่นเรื่องเกี่ยวกับศรัทธาความเชื่อ หรือเรื่องศาสนา เราแค่เขียนในสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงได้ แต่ไม่ต้องชี้นำว่ามันเกิดขึ้นเพราะเหตุนั้นหรือเหตุนี้ ปล่อยให้นักอ่านในจินตนาการและประสบการณ์ในการตัดสิน

ความคิดเห็น